ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะสเถียร รายงานว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้เพียงร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือคิดเป็น 102,135,974.96 ไร่ ซึ่งลดลดลงจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 0.02 คิดเป็น 76,459.41 ไร่

 อย่างไรก็ตามจากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2565 พบว่า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างจะคงที่ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) การเกิดจากปัญหาไฟป่า (Forest Fire) หรือการบุกรุกทำลายป่า เป็นต้น

โดยในรายงานระบุ พบปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,845 คดี มีพื้นที่ถูกบุกรุก 16,176.16 ไร่ โดยมีจำนวนคดีการบุกรุกลดลงจากปี พ.ศ. 2564 แต่มีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกเพิ่มขึ้น 982.82 ไร่ และการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 625 คดี มีพื้นที่ถูกบุรุก 3,461.36 ไร่ โดยมีจำนวนคดีบุกรุกและพื้นที่ที่มีการบุกรุกเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูด้วยนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 และเจตนารมณ์ของประเทศไทย ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Greenhouse Gas Emission ภายในปี ค.ศ. 2065

โดยที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมป่าไมเป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินมาตรการที่สำคัญประกอบด้วย

1) การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำ 1,2) ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ และป่าชายเลน เป็นต้น

2) การส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ ได้แก่ พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ป่าไม้ถาวร พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เอกชนที่ดินกรรมสิทธิ์

และ3) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ถึง 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามนโยบายของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ ในการดำเนินนโยบายเพิ่มพื้นที่และอนุรักษ์ป่า ป้องกันและปราบปรามการบุกรุกป่า รวมทั้งองคาพยพต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยเพราะป่าคือต้นน้ำ และยังมีกลไกช่วยซับน้ำ ลดความรุนแรงจากการเกิดน้ำท่วม