ความชัดเจนมีผลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทย จากทั้งในและนอกประเทศ นับแต่รัฐสภาลงมติเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลผสม 11 พรรคได้สำเร็จ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นอย่างสำคัญ

สะท้อนจาก รายงานของสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรื่องดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-31 สิงหาคม 2566 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 56.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.6 ในเดือนกรกฎาคม 2566

โดยในรายงานระบุ ปัจจัยบวกอันดับแรกคือ สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนขึ้น หลังจากได้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ซึ่งหนุนความเชื่อมั่นของประเทศเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากเปิดประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้น และช่วงนี้ไทยกำลังเข้าสู่ไฮซีซั่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สามารถขยายการงทุนและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศอยู่ในระดับที่ทรงตัว ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย สะท้อนว่ามีเงินไหลเข้าสุทธิ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับตัวดีขึ้น          

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เชื่อว่ามาตรการวีซ่าฟรีที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ จะมีผลให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทำให้แรงงานมีเงินเพื่อการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ขณะที่ภาคธุรกิจมองว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น หลังจากมีรัฐบาลใหม่ และมีการออกมาตรการเศรษฐกิจในด้านต่างๆ จากภาครัฐ ส่วนภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี คือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากบรรยากาศของเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้ราวไตรมาส 2/67 จึงส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยในขณะนี้ยังไม่โดดเด่นมาก

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา  5 ข้อคือ

1. ความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองในการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ เพื่อฟื้นฟูดูแลเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ

2. การส่งเสริมการลงทุนที่สนับสนุนการลงทุนสามารถสร้างโอกาสใหม่ และเปิดโอกาสในการสร้างงาน และการเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

3. การบริหารจัดการทรัพยากรให้เพียงพอต่อความต้องการ ในสถานการณ์ที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

4. การดูแลราคาน้ำมันและพลังงานในประเทศ เนื่องจากเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจและใช้ชีวิต

5. การดูแลเรื่องต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ เราเชื่อว่า นอกจากข้อเสนอของภาคธุรกิจ รัฐบาลจะน้อมรับเอาความเห็นของรัฐสภา และบรรดาผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินนโยบาย อย่างรอบคอบรอบด้านและระมัดระวัง เพราะการรักษาความเชื่อมั่นนั้น ยากยิ่งกว่าการสร้างความเชื่อมั่น