ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2565 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 พบว่า ผู้สูงอายุมีจำนวนทั้งหมด 12.8 ล้านคน และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574

ทั้งนี้ในวันที่ 30 กันยายนของทุกปี เป็นวันเกษียณอายุราชการ สำหรับบรรดาข้าราชการของไทย ส่งผลให้มีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

 แม้ในความเป็นจริงแล้ว  คนในวัย 60 ปีในปัจจุบัน ด้วยความรู้ในการดูแลสุขภาพ อนามัย วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาการและนวัตกรรมต่างๆ จะทำให้คนในวัยนี้บางส่วนยังแข็งแรงและมีศักยภาพมากก็ตาม

ในส่วนของการดูแลสุขภาพของผู้เกษียณอายุราชการ และผู้สูงอายุโดยทั่วไปนั้น มีคำแนะนำจากกรมอนามัย  ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการจัดการสุขภาพตนเองตามแนวทาง Lifestyle Medicine หรือเวชศาสตร์วิถีชีวิต ภายใต้ 6 องค์ประกอบ คือ

1.การกิน เน้นกินข้าวกล้อง และปลาเป็นหลัก กินตับ กินผัก ผลไม้เป็นประจำ ลด หวาน มัน เค็ม ให้เป็นนิสัยและไม่ลืมดื่มน้ำ ดื่มนมให้เพียงพอ กินอาหารสดใหม่สะอาด ปลอดภัย และกินอย่างมีความสุข

 2.มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมในความเหนื่อยระดับปานกลางสะสมให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ควบคู่กับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ การเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ การทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม เป็นต้น ที่สำคัญควรอบอุ่นร่างกาย และคลายอุ่นร่างกาย ก่อนและหลังการออกกำลังกาย ประมาณ 5-10 นาที

3.การนอนหลับ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนั้น ยังมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย สมอง ระบบประสาท การเรียนรู้ ความจำ"วัยผู้สูงอายุมีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โรคประจำตัว การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือโรคของการนอนหลับนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพโรคประจำตัว ภาวะภูมิต้านทานต่ำ และเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

4.การควบคุมความเครียด และจัดการด้านอารมณ์ ในสังคมยุคปัจจุบันเราต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาจทำให้เกิดสภาวะเครียดและวิตกกังวล ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ คือ การมีสติรับมือกับความเครียด และความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้น

5.หลีกเลี่ยงสารหรือวัตถุที่เป็นอันตราย เพราะในชีวิตประจำวันของเรามีสารเสพติดที่ส่งผลต่อสุขภาพในปริมาณเล็กน้อย จนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติทั้ง ๆ ที่ไม่ปกติต่อสุขภาพแต่อย่างใด เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุราซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและการเข้าสังคม จึงควรเลือกเดินสายกลาง ดื่มแต่พอประมาณ และผู้สูงอายุเองควรระมัดระวังสุขภาพ หากหลีกเลี่ยงได้จะดีที่สุด เพราะจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจตามมา

และ 6.การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือการเชื่อมโยงกับสังคม นับเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากบางคนไม่มีทักษะการเรียนรู้ในสังคม แต่บางคนมีการปรับตัวได้ดี โดยสามารถทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า ด้วยการเป็นจิตอาสาในองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น

หากเราๆ ท่านๆ แม้จะยังไม่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้นำหลักปฏิบัตินี้ไปปรับใช้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง