ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

สงบและอบอุ่น

2. ความสุขที่บ้านย่านสุทธิสาร

อาจินต์ ปัญจพรรค์สนุกกับการเขียนนวนิยายเรื่องนี้มาก เป็นนวนิยายที่ทันสมัย เพราะเข้ากับยุคสมัยและเข้ากับแนวของนิตยสาร นวนิยายเรื่องนี้คือ “นางเอกหลังบ้าน”

“นวนิยายเรื่องนี้คนอ่านชอบกัน เป็นเรื่องของเด็กสาวจบประถม 6  ไม่มีเงินเรียนต่อ เลยไปเป็นสาวใช้เขา แต่เป็นเด็กใฝ่เรียน มุมานะเรียนกศน.ไปด้วย ทำงานไปด้วย จนพบกับความสำเร็จ ”

ในช่วงปี 2535-2541 อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้รับเชิญให้ไปเขียนในนิตยสารหลายฉบับ ต่างวาระ เช่น คอลัมน์ “วาบความคิด”ในมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ “มองทุกมุม”ในนิตยสารกุลสตรี คอลัมน์ “กด-เก็บ”ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกายวรรณกรรม คอลัมน์ “อ่าน-เขียน-เรียน-เพลง”ในหนังสือวัฏฏะ-โลกวันนี้ ในเครือวัฏจักร คอลัมน์ “เพลงของอาจินต์”ในหนังสือ young@heart ในช่วงหลังไปเขียนในหนังสือ“ดนตรี เพลง” ของภาคดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีนิวัติ กองเพียร เป็นบรรณาธิการ

หลังจากคอลัมน์ “มองทุกมุม”ในนิตยสารกุลสตรีได้ยุติลง อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้เขียนนวนิยายเรื่อง “เจ้าแม่” อันเป็นภาคต่อของนวนิยายเรื่อง “เจ้าพ่อ” และ “เจ้าเมือง”  เป็นเรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ครั้งที่ญี่ปุ่นบุกกรุงเทพฯ ตัวละครที่ชื่อ แม่ผาดกลับมาโลดเต้นอีกครั้ง

นิวัติ กองเพียร

หลังจากนิยายเรื่อง “เจ้าแม่” อันยาวเหยียดจบ ในเวลาต่อมา อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้เขียนนวนิยายทันยุคสมัยเรื่อง “สนใจได้ยินไหม” นวนิยายเรื่องนี้เขาต้องการสื่อความเป็นไปของยุคสมัยให้กับวัยรุ่น ครั้งที่ไปเยี่ยมที่บ้านย่านสุทธิสาร เขาพูดถึงนวนิยายเรื่องนี้ว่า

“นวนิยายเรื่องนี้เป็นเหมือนตำราสอนวัยรุ่น ผู้ที่สนใจการเขียนต้องติดตามอ่านจนถึงบทที่ 4  จึงจะรู้วิธีการประพันธ์ที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ประสบความสำเร็จ นักเขียนเก่าเขาโด่งดังได้เพราะอะไร มีเคล็ดลับอย่างไร เป็นการสอนการประพันธ์ให้กับนักเขียนใหม่”

จากนั้นก็ให้ข้อแนะนำกับผมว่า...           

“เป็นนักเขียนต้องเสาะหาอ่านผลงานดี ๆ ให้มาก นักประพันธ์ หนังสือแพงเท่าไหร่ต้องเสพย์  แม้จะพิมพ์คัมภีร์ทองซ่อนไว้ ยังต้องขโมยอ่าน เมื่อเสพย์แล้ว สมองเราดีขึ้น ไม่ท่องคาถา จะเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างไร โดยเฉพาะผลงานของนักเขียนต่างประเทศและนักเขียนรางวัลโนเบล อย่างเรื่องสั้นของเออร์เนสต์ เฮ็มมิงเวย์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว(ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเควซ) เรื่องนี้ต้องอ่าน คุ้มค่าทุกหน้า ทุกประโยค

อีกเล่ม “ศิลปะคืออะไร”(เขียนโดยเลียฟ  ตอลสตอย) ที่สิทธิชัย แสงกระจ่างแปล เป็นหนังสือที่ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง จะได้รู้ว่างานเขียนที่ดีเป็นอย่างไร นักเขียนของไทยที่เป็น Classic Man-หม่อมหลวงต้อย ชุมสาย ณ อยุธยา หรือน้อย อภิรุม จดหมายขุนอารีกับทุ่งพลายงาม ควรอ่าน สำหรับส. ธรรมยศ ต้องอ่าน “ศิลปะแห่งวรรณคดี”กับ “พระเจ้ากรุงสยาม”-Rex Siamen Sium”

แล้วอาจินต์ ปัญจพรรค์เอ่ยต่อด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่น ชัดทุกถ้อยคำว่า...

“ใน “พระเจ้ากรุงสยาม” มีประโยคหนึ่งว่า ‘งานเขียนเป็นงานที่ตัดสินกันอย่างเข้มงวดในระหว่างเทพเจ้า’ตัดสินในระหว่างเทพเจ้าเลยนะ”เขาเน้นเสียง “ เข้มงวดมาก ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แล้วการเป็นนักประพันธ์ นอนให้เต็มตา กินให้เต็มอิ่ม แล้วประโยควรรคทองจะออกมา คนอดนอน เขียนไม่เป็นตัว  ในเรื่องการเขียน อย่างมัวคิดสร้างสำนวน สำนวนคือสร้อยเพลง เอาความจริงในชีวิตมาเขียนให้คนอื่นอ่าน คนอื่นไม่รู้ความจริงในชีวิตเราเท่าเราเขียน”

กิจวัตรประจำวันในแต่ละวันครั้งพักอยู่ที่บ้านย่านสุทธิสาร อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้แจกแจงให้ผมฟังอย่างละเอียด นั่นก็คือ......

“ตื่นตีห้า กินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์รายวันห้า เล่ม รายสัปดาห์สามเล่ม แล้วตัดเรื่องดี ๆ เก็บไว้หรือทำกากบาทข้อความสำคัญ จากนั้นออกไปเดินสี่พันก้าว  หาข้าวแกงกิน แล้วไปซื้อฮอลล์ห้าบาท ไปนั่งอ่านหนังสือที่ศาลาริมบึง  จากนั้นไปแวะเซเว่นซื้อทอฟฟี่แจกเด็ก ๆ  เดินกลับถึงบ้านสามโมงเช้า ถึงบ้านอ่านหนังสือต่อ ฟังจส.100 อยากรู้ความเป็นไปบนท้องถนน

ชาลี อินทรวิจิตร

เที่ยง แน่งน้อยทำอาหาร สลัดผัก อาหารเน้นผัก บ่ายนอนพักผ่อน  แล้วดูทีวีกับเคเบิ้ล อ่านหนังสือ ยังไม่เขียนคอลัมน์ ดูดวัตถุดิบไว้ก่อน สองทุ่มดูเคเบิ้ล ชอบสุทธิชัย หยุ่น สภาพ คลี่ขจาย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เบื่อก็กดช่อง 28 ดูเรื่องเกี่ยวกับเมืองจีน สี่ทุ่มนอน เปิดวิทยุใส่ถ่านฟัง AM เป็นวิทยุชาวบ้าน FMฟังตอนกลางวัน ถ้าตอนกลางคืนฟัง FM รายการเดียวคือเพื่อนรัตติกาล จนถึงเที่ยงคืน”

นักเขียนผู้ยิ่งยงผู้นี้บอกว่า ครั้งที่ทำงานที่ช่อง 4 บางขุนพรหม นอนตีสี่เป็นประจำ ชีวิตคนทีวีเป็นแบบนั้น แล้วเที่ยวจนไนท์คลับปิดหมด เริ่มทำงานตอนเที่ยง บางวันไปกินข้าวต้มกับเพื่อนต่อที่ถนนเสือป่าจนพระบิณฑบาต หากในเวลานี้วัยเปลี่ยนไป จากเคยนอนตี 4 ต้องนอน 4 ทุ่ม บั้นปลายของนักเขียนรุ่นครูที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน สามารถจัดสรรชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข นับว่าเป็นข้อคิดที่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิต เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุขได้

ในตอนกลางวัน ปกติแล้วอาจินต์ ปัญจพรรค์จะนั่งอ่านหนังสือที่โต๊ะเก้าอี้สีขาวหน้าบ้าน มีต้นไม้เล็ก ๆ ให้ความร่มรื่น สายลมโชยอ่อน เสียงนกร้องจิ๊บจั๊บ บ้านชั้นเดียวกระทัดรัดในซอยชูจิตารมย์ ตั้งอยู่สุดซอย เงียบมาก ผู้ที่เคารพนับถือแวะเวียนไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว ทั้งเพื่อนน้ำหมึก รุ่นน้องและลูกศิษย์ทางการเขียน

โดยเฉพาะวันคล้ายวันเกิดคือ วันที่  11  ตุลาคม อุ่นหนาฝาคั่งด้วยผู้คนที่ไปร่วมงาน นักเขียนอาวุโสผู้นี้มีสีหน้าแจ่มใสและเบิกบานมาก จัดที่ร้านโอลด์เล้ง ย่านRCA เป็นประจำทุกปี มีวรพจน์  ประพนธ์พันธ์และทิวา  สาระจูฑะ(บรรณาธิการนิตยสารสีสัน) เจ้าร้านโอลด์เล้งเป็นเจ้าภาพ บางปีก็มีเจ้าภาพร่วม บรรยากาศภายในงานเป็นกันเอง ไม่มีพิธีรีตองอะไร

อย่างปี 2649 เจ้าของร้านพิคเอ็นเพย์-สุรพล  จินดาอินทร์ ร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อแสดงมุทิตาจิต เขาทำหนังสือรายเรียงเบอร์ชื่อ “ฟ้าสุพรรณ”อาจินต์ ปัญจพรรค์เขียนด้านหลังสั้น ๆและจัดประกวดกลอนความยาว 1 บทชื่อ “ฟ้าสุพรรณ”

 คนที่ไปร่วมงานล้วนเป็นนักเขียนและนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงที่เห็นหน้าทุกปี บางปีพิเศษหน่อยตรงที่มีของชำร่วยแจกเป็นอภินันทนาการด้วยเช่น ปี 2548 แจกหนังสือ “อาจินต์ 78” พิมพ์ ปี 2549 มีเสื้อยืดคอกลมแจก เป็นรูปอาจินต์  ปัญจพรรค์และลายเซ็นกำกับใต้รูปด้วย ใคร ๆ ต่างเอาเสื้อไปให้‘พี่อาจินต์’สลักลายเซ็นลงในเสื้อด้วย บางคนให้เซ็นด้านหลัง บางคนด้านหน้า ผมให้เซ็นด้านหน้า เพราะเห็นได้ชัดกว่า

ในช่วงนั้นอาจินต์ ปัญจพรรค์ มีสุขภาพดี เดินเหินได้สบาย เห็นแล้วก็ดีใจ แถมยังทันสมัยกว่านักเขียนหลายคน นอกจากพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์ ส่งงานทางอีเมลและเล่นเน็ต ยังพูดคุยกับเพื่อนน้ำหมึกและแฟนนักอ่านที่“PenCyber อาจินต์ ปัญจพรรค์” ต่อมา จึงมีเฟซบุ้ค “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ด้วย

ปีที่ชาลี  อินทรวิจิตร นักแต่งเพลงรุ่น(ล่วงลับแล้ว) ผู้แต่งเพลง ท่าฉลอม,ไปร่วมงาน หลังจากกล่าวแสดงความรู้สึกที่มีต่ออาจินต์ ปัญจพรรค์แล้ว ได้พูดเป็นบทกลอนสั้น ๆ ว่า “รักเพลงอย่าขาดเพื่อน รักเพื่อนอย่าขาดเพลง ถ้าวันไหนใจวังเวง จะกอดคอเพื่อนร้องเพลง”

ขอลงท้ายบทนี้เพื่อนคารวะนักเขียนรุ่นครูนาม “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ที่ผมเคารพรัก ด้วยบทกลอนที่แต่งขึ้น เพื่ออ่านในงานคล้ายวันเกิดปีหนึ่ง...

“ตัวหนังสือยังทันสมัยไม่เคยแก่ เรื่อง‘เหมืองแร่’แม้วันนี้ยังตระหง่าน ยังยืนยงลงแผ่นฟิล์มต่างชื่นบาน คนกล่าวขานนักเขียนลายครามนาม‘อาจินต์’ อาจินต์  ปัญจพรรค์วัยเจ็ดสิบเก้า ยังสลักเสลาตัวหนังสือไม่จบสิ้น ตัวหนังสือยังหนุ่มกระชุ่มกระชวยเหมือน ‘อาจินต์’ ชื่อจะอยู่คู่แผ่นดินนานนิรันดร์”

ตัวหนังสือในเรื่องชุด เหมืองแร่ ยังองอาจและตระหง่านอยู่คู่แผ่นดินและโลกน้ำหมึก ไม่เคยเสื่อมคลายไปจากหัวใจของนักอ่าน

 

 

“งานเขียนเป็นงานศิลปะ ศิลปะมันสอนกันไม่ได้ ศิลปะจึงไม่ยอมให้ใครจูงเข้าไปในโรงเรียน” (อาจินต์ ปัญจพรรค์)