มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร เป็นวาระเร่งด่วน ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 - 3 เดือน) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ราว 6 แสนราย มูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรก ดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ 1 ต.ค.66 ถึง 30 ก.ย.67

โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 ถึงวันที่ 31 ม.ค.67

ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการ และหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว  

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่า มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าว จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เราเห็นว่า ปัญหาเรื่องราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ  และปัญหาผลผลิตล้นตลาด ยังคงเป็นปัญหาที่มีมาในทุกรัฐบาล ที่ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร ที่สำคัญคือแนวทางตามพระราชดำริน้อมนำ ให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรไทยอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี