มีข่าวเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี ซึ่งผิดจากที่นักวิชาการคาดการณ์ไว้

เนื่องจากคณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.8 และ 4.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

“การปรับขึ้นดอกเบี้ย คณะกรรมการฯ ได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นภาคการคลังของรัฐบาลแล้ว โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 10,000 บาท และแม้ไม่มีมาตรการดังกล่าว เศรษฐกิจก็จะมีแนวโน้มฟื้นตัวมากกว่าปี 66 ดังนั้นสิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาจะอิงแนวโน้มเศรษฐกิจมากกว่าไม่ใช่แค่มาตรการรัฐ” นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ระบุ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ จะได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ก็เมื่ออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและกำไร 

ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชน ในการจับจ่ายใช้สอย การออมและการลงทุน โดยธนาคารพาณิชย์ จะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่ม  เพื่อจูงใจประชาชน

ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องแบกรับกับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นจากสินเชื่อของธนาคาร ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  และธนาคารก็จะปล่อยสินเชื่อยากขึ้นเช่นกัน ที่น่าห่วงโดยเฉพาะดอกเบี้ยบ้าน ที่จะกลายเป็นดอกเบี้ยบาน