ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

สงบและอบอุ่น

3. ความสุขในบ้านหลังสุดท้าย

คนรุ่นใหม่ถามกันในเว็บบอร์ดว่า ผลงานของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นอกจากเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่แล้ว มีเรื่องอะไรบ้าง คงจาระไนไม่หวาดไม่ไหว ขอยกมาเป็นตัวอย่างพอหอมปากหอมคอ นอกจากเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่จำนวน 143 เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาแล้ว

ถ้าชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตวัยเด็กที่น่ารักน่าเอ็นดู ก็ต้องอ่าน “วัยบริสุทธิ์” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้วเกือบ 40 ปีมาแล้วและไม่เคยลงที่ไหนก่อน  ถ้าเป็นวัยที่โตขึ้นมา ซึ่งเป็นประสบการณ์ชีวิตครั้งอดีตจากชั้นประถมจนถึงมัธยมที่พบกับเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งถึงยุคสงคราม ก็ต้องเป็นเรื่อง “เจ้าหนู”  เป็นชีวิตของ“เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์”ทั้งสองเรื่อง

ส่วน “ร่ายยาวแห่งชีวิต” เป็นสารคดีชีวิตที่เล่าถึงชีวิตเยาว์วัยเมื่ออายุ 2-3 ขวบของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ตั้งแต่เขาเกิดที่บ้านริมน้ำอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม แต่ละวันมีเรือแพล่องผ่านไปมา เป็นสารคดีชีวิตที่เขียนเล่าได้ชวนอ่าน แทรกด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้ ทำให้ได้บรรยากาศในการอ่าน ไม่เหมือนกับอ่านหนังสือชีวประวัติที่มีอยู่ทั่วไป

หากใครชอบอ่านเกี่ยวกับผลึกความคิดของอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่บ่มเพาะประสบการณ์มาเป็นเวลายาวนาน จนตกผลึก  ขอแนะนำให้อ่าน “การหลงทางอันแสนสุข” สำหรับนวนิยายชิ้นเอกในชีวิตการเขียนของอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึง ก็ต้องยกให้นวนิยายเรื่อง“เจ้าพ่อ”และ “เจ้าเมือง” ขอยกมากล่าวถึงเพียงเท่านี้ เพราะได้กล่าวถึงอย่างละเอียดมาก่อนหน้านี้แล้ว

ผมไปเยี่ยมอาจินต์ ปัญจพรรค์อีกครั้งเมื่อปี 2560  ครั้งนี้เขานั่งเงียบ ผิดกับปี 2554 ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ปี 2560 จะเป็นคนชวนคุยมากกว่า เรียกว่าคุยจ้อเลย แต่คราวนี้เมื่อเล่าอะไรให้ฟัง ได้แต่ยิ้มน้อย ๆ บางช่วงนั่งตาหรี่ปรือเหมือนคนง่วงนอน คงเป็นไปตามสังขารที่ร่วงโรย คนอายุตั้ง 90 ปีแล้ว จะเหมือนแต่ก่อนได้ยังไง คนเราก็เหมือนกับเครื่องจักร นานเข้า ก็ย่อมทรุดโทรมตามกาลเวลา ประสิทธิภาพย่อมไม่เหมือนเดิม

ผมถามแน่งน้อย ปัญจพรรค์ว่า “พี่อาจินต์กินข้าวได้ไหม”

“กินได้”แน่งน้อย ปัญจพรรค์ตอบ แล้วเอ่ยว่า “สุขภาพถือว่าดี หูตาก็ยังดี ใส่แว่นอ่านหนังสือได้ แต่การเดินเหินจะใช้ไม้เท้าสี่ขา(วอล์คเกอร์)  ตอนปี 2541เข้าโรงพยาบาล เพราะถุงลมโป่งแตก นอนโรงพยาบาลเกือบเดือน พอปี 2550 ต่อมลูกหมากโต  ต้องได้ผ่าตัด”

แน่งน้อย ปัญพรรค์เล่าเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของ “พี่อาจินต์”ต่อว่า...

“พี่อาจินต์ผ่าตัดลำไส้อีกครั้งตอนปี 55  เพราะแต่ก่อนกินเหล้ามาก ต้องพกถุงฉี่  ยังไปหาหมอที่ศิริราชเหมือนเดิม แต่หลังผ่าตัดปี 55 ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิมแล้ว ”

ผมอดนึกถึงความหลังครั้งไปเยี่ยมอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่บ้านย่านสุทธิสารไม่ได้ วันนี้กับวันนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง วันนั้นเราคุยกันอย่างออกรส บางครั้งคุยกันตั้งแต่บ่ายจนถึง 6 โมงเย็นก็มี ทั้งที่ดื่มน้ำเปล่า ต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย คุยกันจนลืมเวลา “พี่อาจินต์”เอ่ยขึ้นด้วยสีหน้าเบิกบานว่า “คนเราคุยกันสนุก ถูกคอ มันก็ลืมเวลา”

ผมยิ้มตอบ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เวลาแห่งความสุขผ่านไปเร็วจริง ๆ แต่ เวลาแห่งความทุกข์คืบคลานไปช้าเหลือเกิน

“พี่อาจินต์”รักผม ทั้งที่ผมไม่ใช่นักเขียนดัง รักผม เพราะผมเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่ชรา ผมยังจำคำพูดที่“พี่อาจินต์”พูดกับผมว่า

“ผมชอบคนกตัญญู คนกตัญญูดีกว่าคนเขียนหนังสือเก่ง แต่ไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ คนกตัญญูตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เชื่อผม ผมแก่แล้ว ใครกตัญญูต่อพ่อแม่ ผมยกย่อง ใครไม่สนใจพ่อแม่ ก็ช่างเขา เขาแก่แล้ว เขาจะรู้เองว่าเป็นยังไง ดูแลพ่อแม่ยิ่งกว่าซื้อโลงทองให้ท่าน เทพเจ้าเห็นเอง ใครรู้ก็สรรเสริญ วันนี้จน แต่วันหน้าคุณจะต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ”น้ำเสียงตอนท้ายดังอ่อนโยนอย่างปลอบประโลม

สักครู่ “พี่อาจินต์” ก็กล่าวด้วยคำพูดที่คมคายว่า “กว่าเดินทางของน้ำนมแม่สู่ปากลูก ยิ่งใหญ่กว่าการเดินทางของมหาราชกรีฑาทัพ”     

ประโยคนี้ผมรีบจดลงในสมุดโน้ต เหมือนประโยคอื่น ๆ ใส่วงเล็บต่อท้ายว่า(อาจินต์ ปัญจพรรค์ 3 พ.ค. 40))....

วันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันนักเขียน อาจินต์  ปัญจพรรค์ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะติดเชื้อ ต้องนอนรักษาตัวเป็นเวลา 3 เดือนกว่า แล้วย้ายไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลบางไผ่อีก 3 เดือน

 ผมรู้ข่าวในภายหลัง ช่วงนั้นผมไม่ได้อยู่กรุงเทพฯและไม่ได้ติดต่อใคร ผมไปพักที่บ้านไร่โทรโยค ที่กาญจนบุรีของวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา(ล่วงลับเมื่อวันที่ 21 มีนาคม

2565 ที่ประเทศฝรั่งเศส) ผู้เขียน คือรักและหวัง,มนต์รักทรานซิสเตอร์ และอีกมากมายหลายเรื่อง

ผมรู้ข่าวการจากไปของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ทางทีวีราว ๆ ต้นเดือนมีนาคม 2562 ตอนที่ผมกลับกรุงเทพฯแล้ว โดยพระราชทานเพลิงศพที่วัดตรีทศเทพ ย่านเทเวศร์ ก่อนหน้านี้ วีรยศ  สำราญสุขทวีเวทย์  ลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจินต์ ปัญจพรรค์ติดต่อผมทุกทางและหลายครั้งจนอ่อนใจ ให้ผมเขียนไว้อาลัยในหนังสืองานศพ  บังเอิญมือถือหมดอายุไข  จึงไม่รู้ข่าวคราวอะไรเลย

 ผมบอกเขาตอนเจอกันในวันที่ไปเคารพศพอาจินต์ ปัญจพรรค์ว่า เสียดายมากที่ไม่ได้เขียนไว้อาลัยในหนังสือ แต่ไม่เป็นไร ดวงวิญญาณของ “พี่อาจินต์”คงรับรู้ แน่งน้อย  ปัญจพรรค์เล่าให้ฟัง ตอนวันเกิด “พี่อาจินต์” ครบ 91 ปี วันที่ 11 ตุลาฯว่า

“นิมนต์พระมาข้างเตียงคนป่วย พี่อาจินต์ก็ไม่ลืมตา จับมือให้ไหว้พระ ก็แข็ง ๆ พระท่านบอกไม่เป็นไร พระสวดมนต์ไม่ทันจบ มือก็ตกข้าง ๆ หมดแรง”

ผมนึกถึงชีวิตคนเราทุกคนที่เกิดตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องพบพานสิ่งต่าง ๆ มามากมาย กว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการด้วยความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ บางคนเหนื่อยสาหัส สายตัวแทบขาด จึงบรรลุเป้าหมายของชีวิต

ดังเช่นอาจินต์ ปัญจพรรค์ ในวัยหนุ่มยังมีเรี่ยวแรงตรากตรำทำงานหนัก ทั้งงานในเหมืองอันหนักหน่วงและงานโทรทัศน์ที่ยุ่งเหยิง รวมทั้งงานในหน้าที่บรรณาธิการที่รุมเร้า กระนั้นยังมีพลังในการขับเคลื่อนงานเขียนอย่างหลากหลาย  

หากเมื่อถึงวัยใกล้ฝั่ง หมดพลังในการขับเคลื่อนงานเขียนดังเช่นแต่ก่อนแล้ว เป็นเวลาที่ควรแก่การพักผ่อนในบั้นปลาย หลังจากย่ำรอยเท้าผ่านกาลเวลาอย่างตรากตรำมาเป็นเวลายาวนาน 

ชีวิตคนเราทุกคนเกิดมา ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีอำนาจราชศักดิ์หรือมีชื่อเสียงเพียงใด ในที่สุดแล้ว วันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไปทุกคน อันเป็นบทสุดท้ายของชีวิตมนุษย์  ทำให้ผมนึกถึงประโยคที่อาจินต์ ปัญจพรรค์กล่าวไว้ว่า

“ความเกิดคือบทนำของความตาย  แต่ความตายคือบทเดียวอมตะในตัวของมันเอง  ความตายไม่มีบทจบ...ความตายไม่เคยตาย”

หากสิ่งสำคัญก็คือ ก่อนที่จะจากโลกนี้ไป มีสิ่งที่ดีอะไรให้จดจำ สำหรับอาจินต์ ปัญจพรรค์แล้ว ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่าฝากไว้ให้แก่คนรุ่นหลังมากมาย

แม้ในเวลานี้อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้ไปพักผ่อนที่บ้านหลังสุดท้าย ซึ่งเป็นบ้านที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคนเป็นเวลาหลายปีแล้ว หากผลงานของเขายังตราตรึงอยู่ในใจของคนอ่านไม่มีวันเสื่อมคลายและจะยังคงประทับในใจของคนอ่านตราบนานเท่านาน

ขอกราบคารวะนักประพันธ์ชั้นครูผู้ยิ่งยง-อาจินต์ ปัญจพรรค์ ณ ที่นี้

 

 

“ข้าพเจ้าจงใจที่จะอยู่ในบ่วงแห่งการเขียนตลอดไป ข้าพเจ้าเลือกมันอยู่แล้วด้วยความรักและภูมิใจ โดยมีความหยิ่งทะนงแกมอยู่ด้วยมิใช่น้อย”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)