ต่อจากฉบับที่แล้ว ที่ขอหยิบยกเอาความในบางช่วงบางตอน ของบทความที่ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มานำเสนอดังนี้

“..ในวันนั้น รอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีตำรวจท้องที่และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองปราบมาประจำการ ตั้งแต่เช้าเช่นกัน ประชาชนพยายามจะขับรถชนประตูมหาวิทยาลัย แต่ตำรวจห้ามไว้ จากนั้นมีการยิงโต้ตอบกันระหว่างผู้ที่อยู่ด้านในมหาวิทยาลัย กับผู้ที่อยู่นอกมหาวิทยาลัยรวมทั้งตำรวจ แต่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ผู้หนึ่งยืนยันว่า มีการยิงโต้ตอบมาจากทางผู้ร่วมชุมนุม แต่เบาบางกว่าที่ยิงเข้าไปข้างในค่อนข้างมาก ต่อมากำลังตำรวจตระเวนชายแดนจากค่ายนเรศวร ได้เข้ามาสลายการชุมนุม เมื่อประตูพัง กลุ่มคนที่กำลังกระเหี้ยนกระหือรือ ก็บุกเข้าไปกระทำการอันเหี้ยมโหดตามสัญชาติญานดิบ เถื่อน ดังที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ถามว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมโดยพลังบริสุทธิ์หรือไม่ ก็ขอตอบว่าคนส่วนใหญ่ที่มาชุมนุมมาร่วมชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่หากถามว่า การชุมนุมครั้งนี้มีจุดหมายเพียงขับไล่จอมพลถนอม และไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ เลยจริงหรือไม่ ก็ขอตอบว่า ไม่แน่นัก เพราะเป็นการแน่ชัดว่า การชุมนุม 6 ตุลา ต่างกับการชุมนุม 14 ตุลา ตรงที่หลัง 14 ตุลา 16 เริ่มมีนิสิต นักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่ง ได้รับการจัดตั้งโดย พคท.แล้ว ในขณะที่ก่อนการชุมนุม 14 ตุลา ไม่มีการจัดตั้ง ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการแสดงละครจำลองเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าการไฟฟ้าถูกฆ่าแขวนคอเล่าว่า ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม หลังจากที่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และ Bangkok Post นำรูปการแสดงไปลงหน้า 1 และแกนนำบางคนถูกตำรวจเรียกตัวไปรับทราบข้อกล่าวหา ได้มีการถกเถียงกันระหว่างแกนนำที่เหลือว่า ควรจะประกาศสลายการชุมนุมหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงว่าจะมีการใช้กำลังสลายการชุมนุม และจะเกิดความรุนแรงขึ้น

 แกนนำคนหนึ่งกล่าวว่า "หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็อาจต้องยอมให้เกิดการสูญเสียบ้าง" ในที่สุดก็ไม่ได้มีการประกาศสลายการชุมนุม ถามต่อว่า ผู้ชุมนุมปราศจากอาวุธจริงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ไม่จริง เพราะมีรายงานว่ามีการยิงตอบโต้จากด้านผู้ชุมนุม ข่าวบางกระแสว่ามีเสียงปืนกลยิงออกมาจากด้านใน แต่จะอย่างไรอาวุธของผู้ชุมนุมไม่มีทางเทียบได้กับอาวุธของตำรวจกองปราบ และ ตชด. อย่างแน่นอน นี่คือที่มาของเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา สาเหตุมาจากการแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายโจมตีกัน เกลียดชังกัน ทั้งอาจมีผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องการผลทางการเมือง” จบ