สถาพร ศรีสัจจัง

หลังเปิดประเด็นการเกิด เติบโต และ การแผ่อานุภาพของ “สีหราชัย” หรือ “ราชัยเรืองศรี” (แห่ง “ศรีเทพนครขอม”?) จนกระทั่งท้ายที่สุดก็หมดอานุภาพลง (อย่างน้อยก็เมื่อพันกว่าปีก่อน)ตามที่ “นายผี” เขียนบรรยายฉากนี้ไว้อย่าง “เห็นน้ำเห็นเนื้อ” แต่กระชับตอนหนึ่งว่า :

“…ถึงกรรมเพราะถึงกาล/อะไรทานย่อมทำลาย/เกิดแก่และเจ็บตาย/ก็จะต้องทุกตัวตน/แผ่นพื้นสุพรรณภูมิ/สุรภาพอึงอล/ขุนขอมกำแหงรณ/ธรังรักษ์ด้วยฤทธา/เกลี่ยพื้นพระธรณี/ให้ราบเรียบภิรมยา/ยกกรุงตระการตา/ละกระโน้นก็นานครัน/คราราชัยเรืองศรี/ผินับปีก็เป็นพัน/ท่าวปัจจุบันอัน/อดิเรกรองเรือง/เรืองศรีเพราะสระสม/พลภาพมูนมอง/เพียบทาสทั้งผอง/ ณ แผ่นพื้นสุพรรณภูมิ/เรืองศรีเพราะสระสม/แต่เนียงนมอันเต่งตูม/อิ่มอกชอวบอูม/อำรุงท้าวผทมชม/อาจเอาตะวันเดือน/มาเลื่อนเล่นสำราญรมย์/แท่นท่าวที่บรรทม/ธ ประดับประดาดาว…”

แล้วจบลงด้วยบทที่ว่า

“…ขุนขอมเสวยสุข /รมย์รื่น ณ ราชัย/จวบมิตรจากเมืองไกล/ลงมาล้างบรรลังก์รมย์/ทวยทาสบ่ช่วยไท้/จึงบรรลัยเพราะงอมงม/ศรีเทพนครธม/ก็ทะลายระสายศูรย์…”

และช่วงนี้เอง ที่นายผีได้นำเสนอ “พีเหรียด” แห่งการเกิดของต้นตระกูลคือ “พระยาพล” หรือ “นายจันทร” แทรกเข้ามาในประวัติศาสตร์แห่งพัฒนาการของ “แผ่นพื้นสุพรรณภูมิ” โดยท่านได้บรรยายฉากเริ่มต้นของ “นายจันทร” ไว้ว่า :

“…เบื้องนั้นแลนายจันทร/มาเป็นศิษย์ของหลวงขี/เชื้อราชพรีพี/รินภาพเหลือหลาย/น้ำใจนั้นห้าวหาญ/แลหายากเป็นยอดชาย/เด็กน้อยบ่มีนาย/ก็พำนัก ณอาราม/รู้พูดภาษาขอม/พม่ามอญและจีนจาม/แขกลาวกะเหรี่ยงขาม/ขยาดยั่นบ่อยู่ดู…”

แล้วแผลเป็นขนาดใหญ่ที่กลางหลังของ “พระยาพล” ก็เกิดขึ้นช่วงนี้เอง

“นายผี” เขียนถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า :

“…ผิดใจพระอาจารย์/ก็กราบกรานเพราะเกรงครู/เอาหวายตะค้าชู/กระชากหลังเป็นริ้วรอย/

เลือดฉูดทุกฉับฉาน/สะท้านท่าวบ่ถดถอย/เนื้อปลิ้นเป็นปุยปอย/บ่ปริปากให้ปราณี/ทวนแล้วก็ไล่ลง/ไปตีนท่าในทันที/แก้ผ้าขะม้าสี/สันหลังเลือดทะลักฉาน/ลำน้ำแม่กลองไหล/เป็นโลหิตละเลงลาน/แผลร้อยก็เลยดาล/เป็นแผลเดียวและดูสนอง/ชีเอาขมิ้นมา/ละเลงทั่วดังทาทอง/หลังนั้นบ่มีหนอง/แลแผลเป็นนั้นป่วยหา”

หลังจากนั้น “นายผี” ก็บรรยายถึงคติความเชื่อของคนไทยรุ่นเก่าอีกเรื่อง นั่นคือความเชื่อเกี่ยวกับการอยู่ยงคงกระพัน ในเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ตอนนี้ “นายผี” เขียนทำนองว่า “นายจันทร” คับแค้นใจที่เนื้อหนังไม่อยู่ยง (ไม่เหนียว) จึง…

“…คิดแค้นบ่อยู่คง/ก็เขม้นแต่มองยา/เหลือบไปเห็นครูบา/ธ ม้วนหมากอยู่เรี่ยราย/จำวัดสนิทนิ่ง/บ่ไหวติงดั่งคนตาย/ดาบวางไว้ข้างกาย/และจะใกล้ก็เกินตัว/ไปฤาจะไปเล่า/ไฉนเราจะล่วงขรัว/

ครั้นแล้วก็กลับกลัว/จะบ่แกล้วกำแหงหาญ/ผลุนถึงที่ครูบา/ก็ฉวยฉับไปเอาชาน/หมากกลืนก็บันดาล/

สยิวทั่วทั้งตัวตน/ครูตื่นขมึงตา/ร้องชะฉามึงซุกซน/ดาบซัดลงท่าวทน/บ่มิคันระคายหนัง/ชีหวัวมึงดีเหวย/

อย่ากลัวเลยจะอยู่ทัง/หอกดาบและปืนดัง/บุรุษชาติอาชาไนย…”

อ่านถึงตอนนี้แล้ว ใครที่เคยอ่านสุดยอดวรรณคดีเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์” ของ “นายชิต

บุรทัต” ย่อมจะเกิดภาพพจน์ขึ้นในใจว่าช่างให้ภาพและความรู้สึกเหมือนตอนที่ราชมัลโบย “วัสสการพราหมณ์”ที่ว่า “…แลหลังละลามโล-/หิตโอ้ เลอะหลั่งไป/เพ่งผาดอนาถใจ/ระกะร่อยเพราะรอยหวาย/เนื่องนับเอนกแนว/ระยะแถวตลอดลาย/เฆี่ยนครบสยบกาย/ศิระพับพะกับคา…”

อย่างนี้แหละที่เรียกว่า “กวีส่องทางให้แก่กัน”!

แล้ว “นายผี” ก็บรรยายต่อไปว่า

“จักเป็นทหารหาญ/อันเชี่ยวชาญวิชาชัย/ราชพรีแต่นี้ไป/ก็จะปลอดริปูปอง/ครูรักก็ครูสอน/สุรเวทยเนืองนอง/ย้อมยาเป็นมันหมอง/และทะมื่นเป็นเหล็กไหล/กินคดให้เข้มแข็ง/ก็แกร่งแกล้งอยู่เกรียงไกร/สำแดงเดโชชัย/สุรชาติอึดอือ…”

จากนั้นจึงถึงตอนสำคัญ คือตอนที่พระอาจารย์ทำพิธีตีดาบคู่กายให้ “นายจันทร” ผู้ศิษย์ อ่านตอนนี้แล้ว ใครที่เคยอ่านวรรณคดีไทยเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ย่อมรู้สึกได้ว่า “นายผี” เขียนตอนนี้ โดยน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีไทยเรื่องนั้น ก็ตอนขุนแผนทำพิธีตีดาบ “ฟ้าฟื้น” นั่นไง!

“นายผี” เขียนบรรยายภาพตอนนี้ไว้ดังนี้ :

“…ขุดเหล็กที่กลางเขา/มาเคี่ยวเข้าจนเป็นยาง/ซัดยาอยู่คว้างคว้าง/ก็เอาขึ้นประโคมตี/เป็นดาบอันคมเขียว/แลเนื้อเหนียวกระเด็นดี/ชุบดาบจนปราบปรี-/ดิเพราะได้ดุจดั่งใจ/เอาไม้ตะเคียนมา/ให้เป็นด้ามก็ดูไกร/ผมพรายประจุไป/ก็ประสาทแก่ศิษย์หา/นายจันทรก็เอาใย/แมลงมุมนั้นโยนมา/หงายคมจะให้คา/ก็กลับขาดไปกลางคม…”

เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ อ่านถึง 4 วรรคสุดท้ายจากบทที่ยกมาแล้ว

ถึงกับออกอุทานว่านี่แหละ “นายผี” ละใครเล่าจะทำได้เช่นนี้! แล้วก็(ฟังมาว่า)จำใส่ใจติดแน่น มาบอกมาเล่าแก่บรรรดายุวกวีรุ่นหลังอยู่เสมอๆเมื่อมีโอกาส ว่า “นี่แหละคือฝีมือการเขียนกาพย์ยานี 11 ที่เลอเลิศที่สุด”!!