“อาชีพนักประพันธ์แม้จะไส้แห้งอยู่บ้าง แต่ก็เป็นอาชีพที่มีเกียรติ อย่างน้อยเมื่อตัวตายก็ยังมีชื่อ มีผลงานเหลืออยู่ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา  ผมเป็นแค่นักเขียนแก่ ๆ คนหนึ่ง ไม่ใช่นักเขียนโด่งดังอะไร  แค่ร่วมรุ่นกับนักเขียนดังเท่านั้นเอง”

ส.บุญเสนอ รำพึงออกมา แต่หาได้มีความน้อยเนื้อต่ำใจไม่ เพราะ ‘ลุงเสาว์’อยู่ใช้ชีวิตอย่างสมถะเป็นเวลานานแล้ว นับแต่ภรรยาคู่ยากจากไป “ผมรักเขามาก เขาสิ้นใจในอ้อมกอดของผมเมื่อปีพ.ศ.2538” น้ำเสียงเครือเล็กน้อยในประโยคท้าย

ผมเปลี่ยนบรรยากาศ โดยถามลุงเสาว์ว่า ‘จีบยากไหม กว่าจะได้คุณศรีสุดามาเป็นภรรยา’ ก็ได้รับคำตอบระคนยิ้มน้อย ๆ ดวงตาขุ่นฝ้ามีประกายแจ่มชื่นเล็กน้อย

“เขาเป็นคนสวยมาก เป็นลูกครึ่ง กว่าจะจีบเขาได้ ยากมาก เป็นคนไม่ค่อยพูด โชคดีที่เสด็จในกรมน.ม.ส.ท่านเห็นดีเห็นงาม เป็นผู้ใหญ่ไปสู่ขอให้”

ขอเท้าความนิดหนึ่งจากตอนแรกว่า ครั้งที่ส. บุญเสนอ ทำงานกับพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์(น.ม.ส.) ทำให้ได้พบรักกับศรีสุดา วิคเตอร์

ผลงานนวนิยาย(สมัยก่อนยังใช้คำว่า “เรื่องยาว”)ของส.บุญเสนอที่พิมพ์รวมเล่มแล้วมีมากกว่า 40  เรื่อง ทั้งที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือมาก่อนและเขียนขึ้นเพื่อพิมพ์รวมเล่มโดยเฉพาะได้แก่ สายแดง ดิ่งนรก ตามนาง ชีวิตต่างด้าว สงครามมืด เกาะสมบัติ วาสนาช่างกล  รถจักร 333 จ้าวอากาศ ขวัญใจนายร้อยตรี ดงผู้หญิง สามทหารเสือ  ยอดหญิง เมียลับ แหวนมรกต เทวรูปสำริดฯลฯ

นิยายคำกลอนคือ “เรื่องที่เธอชอบ” และบทละครเรื่อง “แหม่มกับฉัน”หรือ “That Madame And I เพื่อโต้ตอบ “แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์” ผู้เขียน“Anna and The  King of Siam”ที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ รวมผลงานมีกว่า 40 เรื่อง ยังไม่นับบทภาพยนตร์ที่แปลเลี้ยงชีพอีกมากมาย นามปากกาที่ใช้ได้แก่ ส.บุญเสนอ  บุญส่ง กุศลสนอง ลี เชยสกุล โสภา เสาวรักษ์ ส.เนาว์สายและดุสิต วาสุกรี ฯลฯ

เมื่อถามว่าเรื่องที่เขียนได้ข้อมูลมาจากไหนบ้าง ส. บุญเสนอตอบว่า แต่ละเรื่องที่เขียนมาจากประสบการณ์ในชีวิต เพราะสมัยหนุ่มเป็นคนชอบเที่ยว ตระเวนไปเรื่อย ๆ และถามต่อว่า ชอบเรื่องไหนมากที่สุด คำตอบก็คือ...

 “เรื่องที่ถูกใจตัวเองมากที่สุดคือชีวิตต่างด้าว แต่เรื่องที่คนอ่านชอบคือ สายแดง แต่ชีวิตนักเขียนสมัยนั้นก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หาหลักอะไรไม่ค่อยได้หรอก ถ้าผมไม่ได้แปลบทหนัง ผมก็ลำบากเหมือนนักเขียนหลายคนในสมัยนั้น”

ส. บุญเสนอ คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์เป็นเวลานานถึง 10 ปี จึงหวนกลับมาจับปากกาอีกครั้ง โดยฝากฝีมือไว้ในนวนิยายเรื่อง“แลกด้วยเกียรติ” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ที่กุหลาบ สายประดิษฐ์หรือศรีบูรพา ผู้สร้างผลงานอมตะเรื่อง “ข้างหลังภาพ” เป็นบรรณาธิการ

“เรื่องสุดท้ายที่ผมเขียนในชีวิต  ผมเขียนที่ต่วย’ตูน ตอนนั้นผมมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ศรีสุดาป่วยเป็นอัมพาต ต้องนั่งรถเข็น”  

นั่นก็คืออีก 30 ปีต่อมา ส.บุญเสนอในวัย 80 ปี ได้ติดต่อไปยังวาทิน ปิ่นเฉลียว หรือ“พี่ต่วย”แห่งนิตยสารต่วย’ ตูน ซึ่งให้การต้อนรับด้วยความยินดี จึงเกิดคอลัมน์ “ตามรอยลายสือไทย”ในต่วย’ตูน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักเขียนไทยเมื่อ 70 ปีก่อนและเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิต จึงขอบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย ณ ที่นี้

เบื้องหลังการค้นพบนักเขียนรุ่นลายคราม ซึ่งเปรียบดั่งเพชรเม็ดงามของวงวรรณกรรมไทย ต้องยกความดีให้บุคคลต่อไปนี้ตามลำดับเรื่องราว นั่นก็คือ เมื่อปี 2543นักเขียนรุ่นน้องชื่อ สาโรจน์ มณีรัตน์ ผู้สื่อข่าวค่ายมติชน หรือ “ต้นสกุล สุ่ย” นักเขียนเบสต์เซลเลอร์จากหนังสือ “คมความคิดเจ้าสัว” รู้เรื่องราวของส.บุญเสนอจากอาจิณ จันทรัมพร บรรณาธิการอำนวยการโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าหายากของสำนักพิมพ์ดอกหญ้าในขณะนั้น

อาจิณ จันทรัมพรก็รู้เรื่องนี้อีกต่อหนึ่งจากสารีย์ สายะโสภณ ลูกสาวจำรัส สายะโสภณ ซึ่งเป็นกวีรุ่นเก่า เจ้าของรวมบทกวี “เมรัยละคอน  ยอนเดวา” สาโรจน์ มณีรัตน์ได้นำเรื่องนี้ไปปรารภกับดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เจ้าของนามปากกา “วินนี่ เดอะปุ๊” ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับแสตมป์ ซึ่งเป็นอุปนายกสมาคมนักเขียนฯ ยุคเพ็ญศรี เคียงศิริหรือ “นราวดี”เป็นนายกสมาคมฯในสมัยนั้น

คณะของเราจึงได้ไปเยี่ยมเยียนส.บุญเสนอวัย 91 ปีที่บ้านย่านบางซ่อน อีกไม่กี่วัน ผมก็ไปสัมภาษณ์ที่บ้านโดยไม่ต้องนัดหมาย เพราะ ‘ลุงเสาว์’อยู่แต่กับบ้าน ไม่เคยไปไหน วัน ๆ หนึ่งมีความสุขกับการอ่านหนังสือและดูหนังที่สะสมวิดีโอไว้มากมาย           

“ผมชอบดูหนัง มันทำให้เพลิน บางเรื่องดูซ้ำหลายรอบ อย่างเรื่อง 007 ผมดูหลายรอบเลย”ชายชราร่างเล็ก แววตากระตือรือล้น หน้าตาอิ่มเอิบ พูดเสียงดังฉะฉาน

หลังสัมภาษณ์เสร็จ ‘ลุงเสาว์’ ลุกขึ้นจากเก้าอี้ เดินฉับ ๆ ผละไป ใครจะเชื่อว่าคนวัย 91 ปี เดินเหินคล่องแคล่วผิดกับวัย ซ้ำมีสุขภาพดี จากนั้นก็เดินกลับมาพร้อมแก้วกาแฟดำในมือ ‘ลุงเสาว์’บอกว่าดื่มกาแฟดำวันละ 3 แก้ว

ผมไม่ใช่คนสัมภาษณ์ส. บุญเสนอเป็นคนแรก คนที่สัมภาษณ์เป็นคนแรกคือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือสิงห์สนามหลวง อดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์,โลกหนังสือและช่อการะเกด ได้ทำการสัมภาษณ์เมื่อปี 2526 เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารโลกหนังสือ แต่มีอันปิดตัวเสียก่อน ดังที่เขากล่าวไว้ในตอนหนึ่งของการเสวนาในหัวข้อ “100 ปี ศักดิ์ศรีคนวรรณกรรม  ร.จันทะพิมพะ-เปลื้อง ณ นคร-ส.บุญเสนอ”จัดที่โรงแรมมิราเคิล หลักสี่ เมื่อปี 2552

“คนที่แนะนำให้ผมรู้จักส. บุญเสนอคือลาวัณย์  โชตามระ(ล่วงลับแล้ว-นักเขียนสารคดี ผลงานเช่น เมืองไทยสมัยก่อน,รักแรกของรัชกาลที่ 5 ฯลฯ) ผมรู้จักท่านสมัยปีสุดท้ายของโลกหนังสือ  ทำบทสัมภาษณ์ ถ่ายรูปไว้ด้วย แต่ด้วยเพราะเหตุผลอันใดก็ไม่ทราบ ทำให้ผมขาดช่วงการติดต่อกับท่านไป  แม้ว่าจะมาติดต่อกับท่านในช่วงหลัง และท่านก็มีอายุยืนถึง 92 ปี  มีผู้เสนอชื่อท่านให้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่คณะกรรมการพิจารณาไม่รู้จักส. บุญเสนอว่าเป็นใคร  ทั้งที่เป็นนักเขียนรุ่นน้องศรีบูรพา 4 ปี  เป็นนักเขียนอาวุโสที่มีชีวิตอยู่ในช่วงนั้นและมีผลงานหลายแบบ”

เจ้าของนามปากกา “สิงห์สนามหลวง”กล่าวต่อว่า สิ่งที่ส. บุญเสนอทิ้งไว้ให้กับสังคมไทยนอกยจากผลงานที่แทบไม่มีใครสนใจแล้ว คือบ้านและที่ดิน ซึ่งต่อมากลายเป็นที่ทำการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 

“เมื่อส. บุญเสนอได้รับรางวัลนักเขียนอายุยืนคือรางวัลนราธิป ก็ทำให้คนรู้จักส. บุญเสนอขึ้นมา  เพราะฉะนั้นถ้าจะสรุปเกี่ยวกับความเป็นส. บุญเสนอ มันก็สมแล้วที่ส. บุญเสนอได้ทำกุศลให้พวกเรา โดยยกบ้านและที่ดินให้เป็นที่ทำการสมาคมนักเขียนฯ  ในวาระครบ 100 ปี ผมคิดว่านักเขียนเก่าที่ผมบอกว่าท่านจะไม่มีวันตาย ท่านจะไม่มีวันตาย ก็ต่อเมื่อคนรุ่นหลังนำเอาชีวิตและผลงานของท่านมาพูดถึงได้อย่างมีชีวิต ทำให้ท่านมีชีวิตขึ้นมา ในฐานะของการวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์และต่อให้ติดกับปัจจุบัน”

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในฐานะเจ้าสำนักช่างวรรณกรรมและบรรณาธิการช่อการะเกดในขณะนั้น มองเห็นคุณค่าของนักเขียนอาวุโสผู้นี้ จึงประกาศเกียรติยกย่องให้ส.  บุญเสนอเป็นนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ ประจำปี 2544 พร้อมกับชนิด  สายประดิษฐ์(จูเลียต) ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์

ในเวลาต่อมา สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยยุคประภัสสร  เสวิกุล เป็นนายกสมาคมฯ จึงได้มอบรางวับนราธิปให้แก่ส.  บุญเสนอ

ก่อนที่ส. บุญเสนอจะจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2544 ด้วยวัย 92 ปี ได้ทำพินัยกรรมมอบบ้านและที่ดินกว่า 150 ตารางวาให้แก่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงถือได้ว่าส. บุญเสนอมีคุณูปการต่อวงวรรณกรรมไทยมากมายและถือว่าเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง  แม้จะไม่ได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างที่ควรจะเป็นมากกว่านี้

 รวมทั้งการเสนอชื่อของส. บุญเสนอต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  เพื่อพิจารณามอบรางวัล “ศิลปินแห่งชาติ”ให้แก่เพชรเม็ดนี้ ก็มีแต่เพียงความเงียบที่สะท้อนกลับมา

“ชีวิตไม่ใช่เวทีของนักเต้นรำ  แต่หากเป็นเวทีของนักต่อสู้  ซึ่งเป็นธรรมดาเมื่อทุกคนได้ย่างขึ้นมาสู่เวทีนี้แล้ว  ก็จะต้องได้รับบาดเจ็บไม่มากก็น้อยโดยทั่วกัน”(ศรีบูรพา)

           

บุญเสนอ-นักเขียนยุคเพลินจิตต์ผู้ถูกลืม

สุชาติ  สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการนิตยสารช่อการะเกดและอดีตบรรณาธิการโลกหนังสือเกริ่นนำว่า ขนบของหนังสืออ่านเล่น ถ้ามองย้อนไปในยุคพ.ศ. 2468 ของส. บุญเสนอ ซึ่งเคยเขียนไว้ในความทรงจำว่าเป็น‘ยุคตื่นหนังสืออ่านเล่น’ ซึ่งช่วงนั้นมีอายุได้ 19 ปี 

“พอท่านจบจากวัดเบญจมบพิตร ก็ไปทำงานเป็นคนโยนฟืนเข้าหัวรถจักร 1 ปี  แล้วมีเพื่อนชวนไปเป็นศิษย์การบินที่ดอนเมือง  เรียนเป็นศิษย์การบินได้สองปี  เกิดกระแสเศรษฐกิจตกต่ำ เลยต้องออก ช่วงเป็นศิษย์การบินมีความฝักใฝ่ในการประพันธ์อยู่แล้ว จึงเริ่มเขียนเรื่องส่งไปลงหนังสือ(สมัยนั้นยังไม่ใช้คำว่านิตยสาร) มีหนังสือพิมพ์สารานุกูล,เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์,สมานมิตรบันเทิง,เพลินจิตต์  ตอนอายุ 21 ที่เริ่มต้นเขียนหนังสือเรื่องแรก แล้วได้รับความสำเร็จ คือนวนิยายเรื่องสายแดง เป็นประสบการณ์การเป็นศิษย์การบินสมัยนั้น

เรื่อง สายแดงทยอยพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเดลิเมล์รายวัน เขียนวันต่อวัน  วันละตอน ได้ตอน ละ  1 บาท 30 วันก็ได้ 30 บาท หนังสือได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ชื่อของส.  บุญเสนอเป็นที่รู้จักตั้งแต่พ.ศ.2473  เพราะฉะนั้นผมคิดว่าลักษณะของยุคสมัยมันก็บ่งบอกถึงความเป็นมาไม่มากก็น้อย  อย่างเรื่อง สายแดง เมื่อดูจากผลงานแล้ว ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดมันคือหนังสืออ่านเล่นในลักษณะแบบไทย ๆ   ลักษณะของตัวละครที่ส. บุญเสนอสร้างตัวละคร 6 ตัว ตัวละครมีครบทุกรส มันเป็นลักษณะของหนังสืออ่านเล่น ที่ต่อมาเรียกว่า ‘นักเขียนสำนวนสิบสตางค์’ตัวละครที่เป็นเพื่อนรักกันทั้ง 6 คน ร่วมอยู่ในความใฝ่ฝันของคนหนุ่ม เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

บรรณาธิการช่อการระเกดอธิบายต่อว่า ลักษณะเรื่องอ่านเล่นแบบไทย ๆ ที่เรียกว่า“สำนวนสิบสตางค์” ในที่นี่ก็คือ....

“ เมื่อส. บุญเสนอไปเป็นบรรณาธิการให้สำนักพิมพ์เพลินจิตต์พ.ศ.2475 ถึง 2477  สิ่งที่เห็นอย่างเด่นชัดที่เรียกว่าสำนวนสิบสตางค์ก็คือ จะถูกมองว่าเป็นงานประเภทระดับล่าง เป็นรสนิยมของคนทั่วไป ไม่ใช่รสนิยมแบบปัญญาชน ไม่ใช่รสนิยมแบบหนังสือลักวิทยา ไทยเกษมหรือศรีกรุง  สำนักพิมพิ์เพลินจิตต์ที่ผมบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสำนวนสิบสตางค์นั้น  คำว่าสิบสตางค์ มันก็มีที่มาของมัน ถ้าจะเอาความหมายมาจากฝรั่ง มันก็ใช่ มาจากคำว่า ไดม์(dime)หมายถึงเหรียญ 10 เซ็นต์ของอังกฤษ ในภาษาอังกฤษก็มีคำต่าง ๆ คือ ไดท์สตอรี่ ไดท์บุ้ค ไดท์สตาร์ คือ

หมายถึงหนังสืออ่านเล่นราคาถูกสำหรับคนชั้นล่าง ซึ่งเป็นรสนิยมแบบตลาด  ผมถือว่านักเขียนสำนวนสิบสตางค์ของเพลินจิตต์นี่แหละที่เปิดโลกการอ่านของผมเมื่อวัยเด็ก

 นักเขียนสำนวนสิบสตางค์ ถ้าดูจากค้นพบนักเขียนในค่ายนี้ที่ส. บุญเสนอเป็นผู้ค้นพบเช่นป.  อินทรปาลิต,อรวรรณ แม้แต่มนัส  จรรยงค์,ไม้  เมืองเดิม รวมทั้งส. บุญเสนอเอง ต่างก็อยู่ในค่ายเพลินจิตต์  อาจจะเป็นเพราะสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ขายด้วยราคาเริ่มต้นเล่มละสิบสตางค์ เมื่อพ.ศ.2475 ซึ่งเป็นหนังสือเล่มบาง ๆ รูปเล่มเท่าฝ่ามือ ถ้าจะพูดภาษาของคนทำหนังสือก็คือสิบหกหน้ายกเล็ก  จุดเริ่มต้นของเพลินจิตต์ในลักษณะของสำนวนสิบสตางค์ ก็คงจะเริ่มต้นจากการขายในยุคแรกที่ขายหนังสือเล่มละสิบสตางค์ สิบห้าสตางค์  หนึ่งบาท สุภาพบุรุษรายปักษ์เมื่อพ.ศ.2472  พิมพ์ออกมาเป็นพ็อกเก็ตแมกกาซีน รูปเล่มคล้าย ๆ ช่อการะเกด ประมาณ 90 หน้า ขายราคา 30 สตางค์”  

สุชาติ  สวัสดิ์ศรีทิ้งท้ายว่า นี่คือสิ่งที่เรียกว่าภาพรวมของประวัติวรรณกรรมไทยที่ยังขาดอย่างมากและส.บุญเสนอเป็นทะเลของนักประพันธ์ไทยคนหนึ่งเท่านั้น ยังมีนักเขียนคนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก อย่างปีหน้านี้ ป.  อินทรปาลิต ก็มีอายุ 100 ปี

“ความรักคือการตกลงยินยอม สหภาพสองหัวใจ รวมสองหัวใจ วิญญาณรวมกัน ทั้งความคิด ความหวังและความรู้สึก”(ออสการ์  ไวลด์)

เกียรติคุณที่ส.  บุญเสนอได้รับล้วนเป็นองค์กรของเอกชนมอบให้เป็นการยกย่องทั้งสิ้น  แต่การเสนอขององค์กรเหล่านี้ต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  เพื่อพิจารณามอบรางวัล “ศิลปินแห่งชาติ”แก่เพชรเม็ดนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งที่เขามีคุณูปการต่อวงวรรณกรรมไทยมากมายและถือว่าเป็น ‘ผู้ให้’อย่างแท้จริง เพราะก่อนที่ส.  บุญเสนอจะจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2544 เขาได้ทำพินัยกรรมมอบบ้านและที่ดินกว่า 150 ตารางวาให้แก่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างที่ทำการถาวรต่อไป

ผมยังจำภาพชายชราร่างเล็ก แววตากระตือรือล้น หน้าตาอิ่มเอิบ พูดเสียงดังฉะฉานและ เดินเหินคล่องแคล่วผิดกับวัย ซ้ำมีสุขภาพดี สามารถดื่มกาแฟดำได้วันละ 3 แก้ว วัน ๆ หนึ่งมีความสุขกับการอ่านหนังสือและดูหนังด้วยความเพลิดเพลินตามลำพัง โดยไม่อินังขังขอบกับชีวิต

นักเขียนไทยหลายคนจากโลกนี้ไปอย่างเงียบ ๆไม่มีใครแซ่ซ้องสรรเสริญ บางคนตายไปอย่างอนาถา ยกเว้นนักเขียนคนนั้นจะเป็นนักเขียนชื่อดังคับประเทศจริง ๆ หรือได้ศิลปินแห่งชาติ หนึ่งในนั้นก็คือส.บุญเสนอ

“ที่ดินของผมผืนนี้ ผมจะมอบให้สมาคมนักเขียนฯไว้สร้างสำนักงานต่อไป สมาคมนักเขียนฯจะได้มีสำนักงานเป็นของตัวเองเสียที”

ผมจำคำพูดของส.  บุญเสนอหรือลุงเสาว์  บุญเสนอ ประโยคนี้ที่พูดกับพวกเราตอนไปเยี่ยมที่บ้านย่านบางซ่อน ครั้งที่มีชีวิตอยู่เป็นคณะแรกเมื่อปี 2543 ซึ่งมีเพ็ญศรี  เคียงศิริ(นายกสมาคมนักเขียนฯ) ชมัยภร  แสงกระจ่าง  ดร.ชัยวัฒน์  วิบูลย์สวัสดิ์ มาลีรัตน์  แก้วก่า สาโรจน์ มณีรัตน์ ฯลฯแม้นักเขียนยุคเพลินจิตต์ผู้นี้จะมีอายุถึง 91 ปี (เสียชีวิตตอนอายุ  92  ปี)แต่สีหน้าและท่วงท่าการเดินเหินยังดูกระฉับกระเฉง  มีรอยยิ้มอิ่มเมตตาแต่งแต้มน้อย ๆ บนใบหน้าที่เหี่ยวย่นตามสังขารที่ร่วงโรย

การมอบที่ดิน 153 ตารางวาให้แก่สมาคมนักเขียนฯ เริ่มทำอย่างเป็นทางการในสมัยที่ประภัสสร  เสวิกุลรับตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนฯ  การที่สมาคมนักเขียนฯมีสำนักงานเป็นของตนเองเป็นครั้งแรก ผมขอเอ่ยถึงบุคคลต่อไปนี้คือ อาจิณ จันทรัมพร ซึ่งรู้จักกับสารีย์  สายะโสภณ(ทายาทของจำรัส  สายะโสภณ-ผู้เขียน “เมรัยละคอน  ยอน เดวา) ในงานเปิดตัวหนังสือเล่มดังกล่าว วันหนึ่ง จึงพาไปเยี่ยมส.บุญเสนอ ต่อมา อาจิณ จันทรัมพรได้เล่าเรื่องไปพบส.บุญเสนอให้สาโรจน์ มณีรัตน์(ต้นสกุล สุ่ย)แห่งค่ายมติชนฟัง สาโรจน์ มณีรัตน์จึงนำไปเล่าต่อให้ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอุปนายกสมาคมนักเขียนฯ จึงเป็นที่มาของการไปเยี่ยมส.บุญเสนอ โดยคณะกรรมการสมาคมนักเขียนฯยุคนั้นและถือว่าเป็นนักเขียนคณะแรก