สถาพร ศรีสัจจัง

เหตุการณ์ลองดาบของ “พระยาพล” ผู้เป็นต้นตระกูล “พลจันทร” และ “พลกุล” ที่ “นายผี” เขียนเป็นกาพย์ยานี 11 บรรยายไว้ว่า “…นายจันทรก็เอาใย/แมลงมุมนั้นโยนมา/หงายคมจะให้คา/ก็กลับขาดไปกลางคม…” นั้น มีกวี และนักวิชาการในชั้นหลังนำมากล่าวถึงหลายท่านหลายแง่มุมด้วยกัน คนที่สำคัญพึงเอ่ยนามไว้ก็คือ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ และ สุจิตต์  วงษ์เทศ 2 ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ของวงการกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย                  

ทั้งคู่เขียนไว้ในคอลัมน์ของตัวเอง ในหนังสือพิมพ์มติชน  จะเป็นปีไหนก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่ที่เคยจดบางประโยคเกี่ยวกับการพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวด้วยความประทับใจ ก็คือข้อคิดข้อรู้สึกของ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ผู้ได้รับสมญาว่า “กวีรัตนโกสินทร์”            

ท่านเขียนเชิงวิจารณ์ถึงกาพย์ยานี 11 ของ “นายผี” ตอนนี้ไว้ในชิ้นงานที่ชื่อ “ดาบนี้มีประวัติ” (ที่ได้จดไว้เพียงบางวรรคบางตอน)ว่า :             

“…เป็นลีลากาพย์ยานีเชิงฉันท์ที่ให้ความรู้สึกขรึมขลังและฮึกเหิมยิ่งนัก…” และว่า-               

“…ที่วิเศษคือลักษณะกาพย์เชิงฉันท์ ที่นายผีเป็นคนริเริ่มเป็นคนแรกๆก็ว่าได้…” และยังว่าไว้อีกว่า-                  

“…วรรคที่ว่า “ก็กลับขาดไปกลางคม” นี่เด็ดนัก ไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่า การใช้คำ “ขาดไป” นั้นให้ภาพพิเศษยิ่ง คือภาพที่คมสุดคม”             

ส่วนถ้อยความของท่านสุจิตต์  วงษ์เทศ อีกหนึ่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์คนสำคัญนั้น ไม่ได้จดบันทึกเอาไว้ จำได้แต่เพียงว่าท่านเขียนลงคอลัมน์ของท่านในหนังสือพิมพ์ “มติชน” น่าจะสักประมาณช่วงปี พ.ศ. 2561 จำความได้เลาๆทำนองท่านบอกว่า “นายผี” ได้เขียนถึงดาบต้นตระกูลที่ปรากฏในท้องเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เข้าร่วมงานปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว โดยชิ้นงานดังกล่าวมีปรากฏตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร “บานไม่รู้โรย” ช่วงปีพ.ศ.2529 พร้อมกับยกบทกลอนที่ “นายผี” เขียนถึงดาบเล่มที่ว่ามาประกอบ ดังความที่ว่า :                   

“ดาบเล่มนี้มีประวัติแจ่มชัดอยู่/เป็นของปู่ให้กับพ่อต่อถึงข้า เป็นความแค้นของปู่ผู้เสียนา/ซ้ำพ่อข้ามาเสียงัวหมดตัวไป มีแต่ดาบเล่มเดียวเคี้ยวความแค้น/แม้ถึงแสนเล่มข้าหากลัวไม่ จะฟันเหล่าเจ้าที่ดินให้สิ้นไป/เพื่อชิงชัยเอาที่นาของข้าคืน”                 

นอกจากจะยกบทกลอนของ “นายผี” บทดังกล่าวมาประกอบแล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ ยังอ้างถึงความบางประการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จากหนังสือ “ทางอีสาน” ฉบับ “100 ปีนายผี” ที่มี คุณปรีดา  ข้าวบ่อ เป็นบรรณาธิการ มาอ้างถึงในทำนองว่า จากการสัมภาษณ์คุณกรองแก้ว  เจริญสุข กวีฝีมือดียุค 2500 ผู้เป็นศิษย์ด้านกาพย์กลอนคนสำคัญของ “นายผี” คุณกรองแก้วได้กล่าวยกย่องถึงความวิเศษเกี่ยวกับบทกลอนชิ้นนี้ไว้มาก ทำนองว่าท่านเขียนเพียงสั้นๆ แต่ได้ความที่ลึกซึ้งและชัดเจนมาก เป็นสุดยอดแห่งกวีจริงๆ หรืออะไรทำรองนั้น                  

สำหรับท่านใดที่ต้องการรู้เรื่องและเข้าใจลักษณะพิเศษในการสร้างสรรค์งาน ประเภทกาพย์ยานีของ “นายผี” อย่างเป็นเรื่องเป็นราวทางวิชาการ(Academic) ก็สามารถหาอ่าน “บทความวิจัย” ชิ้นสำคัญ เรื่อง “การแต่งกาพย์ยานี 11 ตามทรรศนะของนายผี” ของ หม่อมหลวงคำยวง  วราสิทธิชัย  อาจารย์คณะศิลปศาสตร์แห่งมหาวิทยาลียธรรมศาสตร์กันได้  ท่านศึกษาวิเคราะห์และเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้อย่างเป็นระเบียบแบบแผน โดยงานชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร “วรรณวิทัศน์” ปีที่ 16  ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559  ไปสืบค้นกันเอาเองก็แล้วกัน ถ้าหาที่ไหนก็ไม่ได้ อย่างน้อยในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็คงจะพอมีละมั้ง!                     

เคยคลิกดูในกูเกิลเมื่อนานพอควรแล้ว ก็พบฉบับเต็มให้อ่านอยู่นะ ลองเข้าไปดูเถอะ !                         

ในตอนที่ 2 ของ “ความเปลี่ยนแปลง” นี้ “นายผี” ได้ใช้ “กาพย์ยานี 11 เชิงฉันท์” (อินทรวิเเชียร) บรรยายเรื่องราวของต้นตระกูลตนเองอย่างกระชับชัดเจน และอย่างต่อเนื่องว่า หลังจากท่านอาจารย์ได้ประสิทธิ์ประสาทวิทยายุทธ์และตีดาบวิเศษคู่ใจให้จนเป็นผู้มี “วิชาฝีมือ” เรียบร้อยแล้ว ช่วงจังหวะนี้เองที่กองกำลังพม่าได้บุกรุกเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี                  

“นายจันทร” ผู้เรืองวิชาอาสาศึกเข้ารบพม่าผู้รุกรานเหล่านั้น จนได้รับชัยชนะและได้รับการอวยยศให้เป็น “พระยาพล”ตำแหน่งผู้รั้งเมืองหน้าด่านกาญจนบุรี !                    

ตอนนี้ “นายผี” เขียนไว้อย่างรวบรัดชัดความว่า :                    

“…แสนพลพม่าพม่าพัง/กะทั่งกาญจนบุรีรา/ชาแสร้งให้อาสา/ก็สำเร็จประสงค์สม/ตีพลพม่าแตก/เตลิดแล่นไปเพียงลม/คืนเข้ามาบังคม/ก็บำเหน็จให้หนักหนา/ให้เป็นพระยาพล/แลคุมพลโยธา/ให้รั้งอยู่รักษา/สำหรับกาญจนบุรีเรือง…”                 

แล้วก็ต่อความไปทีเดียวว่า                     

“ขุนม่านบ่เข็ดขาม/มาลอบปล้นที่ปลายเมือง/ยินความให้แค้นเคือง/ก็เคี้ยวกรามดั่งเพลิงกัลป์/แม้มีงแมลงเม่า/จะมาม้วยเมื่อสำคัญ/เพลิงแรงกว่าแสงจันทร์/แลมาตอมก็ตายเปลือง…”  และ “…เลิกยังปิล๊อกแล้ว/แลเข้าล้อมระเหิดระหัน/เวียนปล้นอยู่สามวัน/แล้วเลิกล่ามาโดยกล…” และ  “…ขุนม่านทะลึ่งหา/ได้หอกแล้วก็เร่งไป/พอโผล่ประตูจวน/พระยาพลก็เพิดไพ/มึงฤาที่ปล้นไทย/แลมาพบพญายม/เจ้าเมืองปิล๊อกร้อง/แลถลาเข้าแทงลม/ดาบร้ายที่เหลือคม/ก็กุดหัวกะเด็นหาย…”                    

แล้วก็ถึงบท “พระยาพล” ถูกปลดจากตำแหน่งโดยผู้มีอำนาจเหนือ เพราะลงมือปฏิบัติการปราบพม่าที่เข้ามายึดครอง “เมืองปิล๊อก” เมืองชายแดนสุดของกาญจนบุรีที่อยู่ในเขตปกครองของ “พระยาพล” ในยามนั้น โดยไม่แจ้งผู้มีอำนาจเหนือก่อน(เพราะเกรงจะช้าไปไม่ทันการ) จึงถูกลงโทษ “ถอดเสียจงสมใจ/ที่ประจักษ์ว่าจองหอง…” ดังความที่ว่า-                   

“…เสร็จล้างปิล๊อกแล้ว/ก็คืนกาญจนบุรีเริง/บัดบอกมา บ เหิง/ก็ให้หาพระยาหาญ/ว่าเอ้ยบสั่งเสีย/แลสำหรับจะรุกราน/ล้วนกูบ่สั่งการ/มาอวดกรนี่กลใด/ความชอบบ่มีมึง/ก็ บ รอดแลอยู่ใย/ถอดเสียจงสมใจ/ที่ประจักษ์ว่าจองหอง…”                      

แล้ว “พระยาพล” ยามนั้นเป็นอย่างไรบ้างละ มาเราจะตามเข้าไปดูกัน ตามที่ “นายผี” ได้บ้นทึกขับขานเป็นคำกาพย์อันวิเศษไว้ให้ฟัง !!