สงครามที่ตะวันออกกลาง แต่ผลกระทบเชื่อมโยงถึงไทย นอกจากจะมีคนไทยได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกันยังไม่ทราบชะตากรรม ต้องอพยพกลับมาตุภูมิแล้ว ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งราคาพลังงาน อาหาร และสัญญาณที่ไม่ปกติในประเทศโซนยุโรป ทั้งในฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ตุลาคม)

จากดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก ปี 2565 (2022 Global Terrorism Index) ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 163 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3 อันดับ (ที่มา: https://www.visionofhumanity.org/maps/global-terrorism-index/#/) ประเทศไทยจึงต้องเตรียมรับมือ กับความเสี่ยงและสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด  แม้จะไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ต้องเตรียมความพร้อม งานด้านต่างประเทศและความมั่นคง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเทศไทย เพิ่งเผชิญเหตุกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้า แม้จะเป็นเหตุภายในประเทศเราเองก็ตาม แต่ก็เป็นสัญญาณให้ต้องยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อปกป้องชีวิตของประชาชน

หากย้อนดูเหตุการณ์ในอดีต ประเทศไทยเองก็เคยประสบกับวิกฤตก่อการร้ายมาแล้ว หากย้อนไปดูข้อมูลจาก Wikipedia ระบุว่า ประเทศไทยมีเหตุก่อการร้าย หากไม่นับรวมเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาแล้ว 13 ครั้ง

1.ปี2515: วิกฤตตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำกรุงเทพมหานคร

2.ปี2542: การบุกยึดสถานทูตพม่าประจำกรุงเทพมหานครของก็อดส์อาร์มี่

3.ปี2543: การบุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีของก็อดส์อาร์มี่

4.ปี2544: เหตุวางระเบิดที่สาขาต่าง ๆ ของห้างเทสโก้ โลตัส

5.ปี 2548: เหตุคนวิกลจริตใช้มีดไล่แทงนักเรียนในโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ปัจจุบันผู้ก่อเหตุได้รับการรักษาทางจิตและกลับไปอาศัยที่ภูมิลำเนาเดิมโดยปกติ

6.ปี2555: เหตุระเบิดที่ถนนปรีดี พนมยงค์

7.ปี2560: เหตุวางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

8.ปี2562: เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5จุด

โดยเหตุการณ์ทั้ง 8 ครั้งนั้น ไม่มีผู้เสียชีวิต หากแต่เหตุการณ์ครั้งที่เหลือนั้นมีผู้เสียชีวิตประกอบด้วย

9.ปี2525: เหตุระเบิดสำนักงานบริษัทเอ.อี.นานา มีผู้เสียชีวิต1 คน และบาดเจ็บอีก 17 คน

10.ปี2537: คนร้ายชาวอิหร่านใช้รถบรรทุก 6 ล้อบรรทุกแท็งก์น้ำเหล็กซึ่งภายในรถเป็นระเบิดที่ประกอบด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตผสมเข้ากับน้ำมันดีเซลแต่ชนกับรถจักรยานยนต์ทำให้คนร้ายหลบหนีไป ซึ่งจากการตรวจค้นรถบรรทุกได้พบศพของเจ้าของบรรทุกที่ถูกแอมโมเนียมไนเตรตทับไว้

11.ปี2549: เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครหลายจุด

12.ปี2552-53 : ก่อเหตุจราจล วางเพลิงเผาทรัพย์และปล้นสะดมร้านค้า

13.ปี2558: เหตุระเบิดที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม เอราวัณ

ไม่เพียงภาครัฐและหน่วงานที่เกี่ยวข้อง ทุกองค์กรทุกฝ่ายจำเป็นต้องตื่นตัว ไม่เว้นประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ จึงต้องเรียนรู้ ร่วมมือและช่วยกันระแวดระวังสอดส่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตั้งการ์ดให้สูงไว้ปลอดภัยกว่า