ผ่านไป 1 เดือนกว่าแล้วสำหรับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่มุ่งหน้าเรียกศรัทธาจากพี่น้องประชาชน รับบท “เซลส์แมน”ประเทศไทย เดินสายพบปะผู้นำในเวทีต่างๆ รวมทั้งความพยายามแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ทั้งค่า ไฟ ค่าน้ำมัน และค่าโดยสารรถไฟฟ้า

แต่ดูเหมือนม่านหมอกบังตา ที่ประเด็นสาระ และไม่เป็นสาระต่างๆ ถูกจับมาขยายความกลบผลงานที่ทำ ท่ามกลางการจับตาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะแผนการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาทที่หวังจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เผชิญกระแสต้านอย่างรุนแรง

 หันมาดูมรดกของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในชุดพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มีข้อมูลจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC 86 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 14,283 ล้านบาท คิดเป็น 22% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 37 ราย ลงทุน 6,216 ล้านบาทจีน 13 ราย ลงทุน 1,053 ล้านบาท ฮ่องกง 6 ราย ลงทุน 4,046 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 30 ราย ลงทุน 2,968 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1.บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ 2.บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การเลือกใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์การวางแผนติดตั้งและทดสอบการทำงานของเครื่องจักร วางแผนประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยในการทำงานสำหรับการใช้เครนหรือเครื่องจักรในการเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นต้น 3.บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนของเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 4.บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และ 5.บริการออกแบบแม่พิมพ์โลหะสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเศรษฐาเข้ามา ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกับตาและเปรียบเทียบ ยอดการลงทุนต่างๆ หลัง นายเศรษฐาวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์เรื่องการค้าระหว่างประเทศเอาไว้มากทีเดียว

 ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ว่า ได้มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ สอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ

โดยอีอีซีมีแผนการพัฒนาให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนภายใต้กรอบ พรบ.อีอีซี ในการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดเพิ่มเติมจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยพิจารณารายโครงการตามเม็ดเงินลงทุน รวมถึงนักลงทุนรายใหม่ที่จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมตามเข้ามาลงทุนในประเทศ

สำหรับการเจรจากับเทสลา อีอีซีได้เสนอแพคเกจลงทุนสูงสุดให้นายกฯ พิจารณา อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) สูงสุด 15 ปี รวมทั้งการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วน การให้วีซ่า ระยะยาวในการพำนักในไทยสูงสุด 10 ปี ทั้งในผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ผู้บริหารรวมทั้งผู้ติดตาม และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Flat rate) เหลือ 17% ขณะที่การคิดค่าเช่าพื้นที่สร้างโรงงานสูงสุด 99 ปี โดยคาดว่านายกฯ จะนำแพคเกจลงทุนดังกล่าวหารือเจรจากับเทสลา ในช่วงระหว่างที่มีกำหนดเดินทางไปร่วมประชุม APEC ที่สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน

กระนั้น ผลงานที่อีอีซี ก็จะเป็นดัชนีชี้วัด ว่านายกรัฐมนตรี เศรษฐานั้น ทำด้สมราคาคุยหรือไม่