สถาพร ศรีสัจจัง

เมื่อถูกสั่ง “ปลดกลางอากาศ” ด้วยข้อหาไปปราบพม่า (ด้วยการเผาคลอกทั้งเมือง) ที่เข้ามายึดเมืองปิล๊อก (เมืองเล็กๆชายแดนอยู่ในเขตภูเขาติดกับพม่า) โดยไม่แจ้งขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน(ด้วยคงเห็นว่าถ้าทำเช่นนั้นจะไม่ทันการ)แล้ว พระยาพล(ต้นตระกูลของ “นายผี”) มีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง?

ฉากนี้เป็นอีกฉากหนึ่งที่บรรดา “กวีใหญ่” หลายท่านมักกล่าวตรงกันว่า “นายผี” บรรยาบรรยากาศได้เฉียบขาดและเห็นภาพของความเป็น “พระยาพล” ต้นตระกูล “พลจันทร” และ “พลกุล” ชัดมากจะลองยกมาให้ดูกันสักเล็กน้อย

“…บัดนั้น พระยาพล/อุระเพียงจะพังพอง/สองตาเขม้นมอง/และมือนั้นก็เลื่อนมา/ถึงดาบแล้วดับได้/กลัวทวยไทยจะนินทา/เสียสัจจวาจา/ก็จะเสียซึ่งชายชาญ/เป็นขายมาหมิ่นชาย/จะไว้ลายให้ลือลาน/สองเราแลใครหาญ/ก็แลหัวบเหี้ยนหาย/เลือดตัวแต่ปลายลำ/แม่กลองไหลแลเป็นนาย/เลือดตูที่ต้นสาย/บสำหรับจะดูแคลน/ลุกถอยบ่ลาไท/ก็กระเทือนทั้งดินแดน/ทหารที่เฝ้าแหน/ก็บอาจจะอวดหาญ/ลงไปยังราชพรี/แลเรียกเลกมิรอนาน/ขุดคูคือปราการ/ว่าจะกั้นอริไกล/ดูที่สะเทิ้นน้ำ/สะเทิ้นบกบสงสัย/ท่าเสาสิชุมชัย-/ภูมิพ้นสถาพร…”

กาพย์ช่วงนี้ นอกจาก “นายผี” จะบรรยายได้เพาะเราะ กระชับจับใจ และกินความกว้างใหญ่ลึกซึ้งแล้ว ท่านผู้รู้หลายท่านเคยอภิปรายกันถึง “เนื้อนัย” ทำนองว่า “นายผี” ได้ “ซ่อน” เรื่องราวบางประเด็นที่น่าสนใจยิ่งเอาไว้ด้วย เพื่อให้ลูกหลาน “พระยาพล” ผู้หาญกล้าในชั้นหลังได้ตีความเพื่อจะได้กล้าต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทั้งแวง(ถ้าข้อสันนิษฐานที่ว่า “นายผี” เขียน “มหากาพย์” เรื่องนี้ขึ้นเพื่อปลุกใจญาติผู้พี่ผู้น้อง คือคุณอุทธรณ์  พลกุล นักหนังสือพิมพ์ที่กำลังถูก “เผด็จการ” จับขังคุกในข้อหากบฏสันติภาพอยู่ในขณะนั้นจริง)

ลองสังเกตกาพย์บทที่ว่า “เลือดตัวแต่ปลายลำ/แม่กลองไหลแลเป็นนาย/เลือดตูที่ต้นสาย/บสำหรับจะดูแคลน” ดูกันเองเถิด!

และในช่วงท้ายของกาพย์ที่ยกมา มีคำอยู่ “2 คำที่ตอบคำถามเรื่อง “เมื่อพระยาพลถูกปลดถูกถอดยศแล้วไปไหน?” คือคำ “ราชพรี” (ชื่อเรียกเก่าของเมืองราชบุรี) และคำ “ท่าเสา” นั่นก็คือ พระยาพลได้เคลื่อนย้ายบ้านเรือนและทาสบริวารจากเมืองกาญจน์ไปสร้างที่อยู่ขึ้นใหม่ที่ “ท่าเสา” เมืองราชบุรีนั่นเอง

ซึ่งก็คือบ้านที่ตำบลท่าเสาซึ่งหน้าบ้านมี “รื่นร่มชมพู่เพรา” ซึ่งนายผีบรรยายเป็นกาพย์ฉบัง 16 ไว้ถึงความยิ่งใหญ่มากบารมีของเจ้าของบ้านในตอนเปิดเรื่องว่า “…ยินเอ่ยรั้วใหญ่ย่อมหัว/หอต้อทักตัว/บอาจจะต่อสายตา/เกรงหวายเกรงไม้มีดผา/เกรงยิงปืนยา/แลเกรงเพราะเกรงใจกัน/มีเลกลูกทาสถึงพัน/มีนาอนันต/เอนกจะนับเหลือคณา…” นั่นเอง

และบ้านหลังนี้นี่แหละที่ “นายผี” ในวัยเด็กได้เติบโตขึ้น ดังข้อเขียนตอนหนึ่งของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ในหนังสือ “ชีวิต : ผลงาน : ตำนาน “นายผี” อัศนี  พลจันทร(2461-2530)” ที่ว่า “…ดังความรำลึกวัยเยาว์ของตัว “นายผี” เอง ณ บ้านท่าเสา ละแวกเขางูที่ราชบุรี เป็นเจ้านายตัวเล็กๆอยู่ในบ้านรั้วใหญ่…”

หลังสร้างบ้านเมืองที่ท่าเสาแล้ว พระยาพลต้นตระกูลของ “นายผี” ก็ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ที่นี่ในฐานะ “ศักดินา” ผู้มั่งคั่งมากอำนาจบารมี ตอนนี้ “นายผี” ได้บรรยายภาพชีวิตและอัตลักษณ์ตัวตนพิเศษของพระยาพลไว้อย่างละเอียดละออจนถึงตอนเสียชีวิต…

จะขอยกมาให้อ่าน “เอาเรื่องเอารส” กันเอาเองสักบางท่อนบางตอนละนะ อย่าลืมว่าตอนอ่านต้องอ่านแบบออกเสียงดังๆเป็นทำนองกาพย์แบบคนยุคเก่าเขา “สวดหนังสือ” ละเพราะการ “อ่านในใจ” อย่างคนรุ่นปัจจุบัน ไม่ใช่วิธีการอ่านร้อยกรองไทยที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องนั้นต้องอ่านออกเสียงเหมือนร้องเพลงนั่นแหละ!

“…แสนสาวอันสระสวย/ที่แน่งนวยมีเนื้อนม/สำหรับสำเริงรมย์/บริรักษ์นั้นเหลือหลาย/ผิวดำและหน้าดัง/เป็นฝีดาษบ่ดีดาย/เสียงเล็กและมือคาย/ก็คือเพื่อนพระยาพล/อำนาจคือเพลิงกัลป์/อันเถกิงในสากล/ใครยินแสยงขน/แลเป็นไข้บ่คุยหา/ลูกม่านครันยินแม่/ว่าเสียงเล็กกำลังมา/หยุดร้องแลหลับตา/ก็กุมตับบติงตน…” และ

“…ถึงกรรมกษัยกาล/แลจึงท่านพระยาพล/สิ้นชีพแลสิ้นชน/มายุอันยืนมา/ท่าเสาก็สิ้นเสือ/ที่เลียงเล็กอันลือชา/แลราชพรีอา/ณุภาพเหี้ยมก็เหือดหาย/กรุงไทยก็สิ้นศูนย์/ขุนศึกผู้สมชาย/ลูกนาบ่สิ้นนาย/เพราะว่าสิ้นพระยาพล/ขุนศักดินาสิ้น/แลลูกหลานยังเรืองรณ/สืบต่อตระกูลตน/ก็คือตรวนอันตรึงตรา…”

ดูเอาเถิดเพียงทั้งสองตอนที่ยกมาก็จะเสัมผัสรู้ได้ว่าเข้มข้นชัดเจนขนาดไหน มีจังหวะเสียงน้ำหนักคำของ “กาพย์เชิงฉันท์” ที่ขรึมขลังไพเราะหนักแน่นเพียงใด และ กวีผู้รจนาเรื่องนี้มีความเข้าใจอย่างแตกฉานลึกซึ้งต่อ “เคล็ดแห่งกาพย์กลอน”ไทย จนสามารถ “ยึดกุมได้” ในระดับ “สั่งคำได้เหมือนใจ” อย่างไร?

ที่สำคัญมากของตอนนี้ก็คือ การฉายทรรศนะทางการเมืองของกวีผู้รจนาคือตัว “นายผี” ในช่วงยามนั้น ไว้อย่างแจ่มชัดไม่อำพรางว่ามี “โลกทัศน์” ในการมองสังคมไทยอย่างไร เห็นถึงระบบความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนั้นอย่างไร และ มี “น้ำเสียง” ของความเป็น “นักคิดนักปฏิวัติสังคม” อย่างไร!!

เป็นการสำแดงทรรศนะทางการเมืองในทำนองการ “วิจารณ์และวิจารณ์ตัวเอง” ครั้งสำคัญยิ่งของ “นายผี” ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเลือกทาง “เสียสละฐานะทางชนชั้น” ของตัวเอง จาก “ผู้ได้เปรียบทางสังคม” ทะยานสู่จุดมุ่งอันสูงส่งตามความคิดความเชื่อของตนในการเลือกวิธีต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สังคมที่ท่านเชื่อว่าจะเป็นสังคมที่ดีกว่า

“นายผี” จบตอนที่ 2 ของ “ความเปลี่ยนแปลง” โดยการกล่าวถึงตัวตนในยามพิจารณาเห็นสัจธรรมแห่ง “ความเปลี่ยนแปลง” ได้ชัดเจน  จนตัดสินใจเลือกทางเดิน “เตร็จในพนม” ในที่สุด ความตอนนี้ว่าไว้ดังนี้ :

“…เสียงครางที่ครวญใน/ชนบทก็บันดาล/ดังสอดขึ้นผสาน/กับเสียงในนครครวญ/เมื่อใดทั้งสองเสียง/อันครางคร่ำอยู่โหยหวล/จากสองใจรำจวญ/จะเป็นเสียงอันเดียวกัน/เมื่อนั้น และทั้งสอง/ก็จะสิ้นที่โศรกศัลย์/เมื่อนั้นแลสองขัน/ก็จะขุกได้สุขสม/จึงทิพรูป แสน/จะระทดระทมตรม/เตร็จในพนมงม/ดูเง่าเพชรอยู่งึมงำ…”

แล้วก็ถึงตอนที่ 3 ที่จะว่าด้วยเรื่องของ “ทิพรูป” คือตัว “นายผี” ที่จะกลายเป็น “เพชรรูป” ที่ “สำเริง” ในที่สุดโดยตรง !