“นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพและเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี

และที่สำคัญ การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล”

คือถ้อยแถลงของ นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566

แต่หากย้อนกลับไปในการหาเสียงเลือกตั้ง นับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พรรคเพื่อไทย ได้เปิดตัวนโยบายดังกล่าว ว่าจะมอบเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ไว้ใช้จ่ายใกล้บ้าน ระยะทาง 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ในบัตรประชาชนของแต่ละคน ภายในเวลา 6 เดือน

น่าสนใจว่า ห้วงเวลาที่หล่นหายไป ท่ามกลางกระแสการคัดค้านและท้วงติงต่างๆนั้น รัฐบาลเศรษฐา มีความชัดเจนอย่างไรต่อนโยบายดังกล่าว จะไปต่อหรือพอแค่นี้ และหากจะเดินหน้าต่อจะเดินไปในทิศทางใด ความชัดเจนในเรื่องของแหล่งที่มาของเงิน และระบบต่างๆ รวมทั้งการตอบข้อห่วงใย 7 ข้อของนักเศรษฐศาสตร์

ในขณะที่ทีมงานทั้งรัฐมนตรี และที่ปรึกษา ต่างให้ความเห็นและทัศนะไปคนละทิศทาง

“เรื่องดังกล่าวตนจะพูดอีกครั้ง จะพูดทั้งหมด ทั้งแพ็กเกจ ส่วนการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่จะเริ่มเมื่อใดนั้นจะชี้แจงอีกครั้งตามที่ตนบอกไป เมื่อทุกอย่างสะเด็ดน้ำแล้ว ตนจะเป็นคนนั่งหัวโต๊ะแถลงเองพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

กระนั้น เราเห็นว่า การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญก็จริง แต่เนื้อหาสาระที่แท้จริง ที่ยังไม่สามารถให้ความชัดเจนต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้เกิดอาการ กลัวๆ กล้าๆ