ในที่สุดก็มีความชัดเจนออกมา สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า “วันนี้ขอบอกข่าวดีกับพี่น้องประชาชนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริง รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้น และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และที่แถลงในวันนี้จะต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมาย และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปอีกครั้ง

ตัวเลขที่ท่านได้ยินไป เกิดจากการที่รัฐบาลรับฟังความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่นๆ  ทำงานร่วมกัน และปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท เพื่อความชัดเจน ประโยคนี้แปลว่า ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือ ถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน

โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ ตามที่ได้รับฟังความเห็นมา พร้อมๆกันนั้น เราจะใช้เงินในการเพิ่มขีดความสามารถ ภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป  

ตนยังยืนยันความตั้งใจที่จะให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ท่าน เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่มาของเงิน ที่จะมีการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 5 แสนล้านบาทว่าอาจจะขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและจ่ายเงินแผ่นดินตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 แต่อย่างใด

อีกทั้ง รัฐบาลยังต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งหวังว่าสุดท้ายจะไม่ดับฝันประชาชน และเป็นไปด้วยความรอบคอบ เหมาะสมได้ผลสำเร็จอย่างแท้จริง