สถาพร ศรีสัจจัง

แม้จากหลักฐานหลายส่วนหลายประการ จะทำให้ค่อนข้างเชื่อกันว่า นายผีเขียนกวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ขึ้น ก็เพื่อปลุกขวัญให้กำลังใจญาติสนิทผู้เป็นที่รักใคร่นับถือซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์อุดมคติที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมจนต้องถูกกล่าวหาและจับกุมในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม “กบฏสันติภาพ” คือ คุณอุทธรณ์  พลกุล 

แต่เมื่ออ่านงานอย่างพินิจพิจารณาถ่องแท้ทั้งด้านลึกและด้านกว้างแล้ว นักวรรณคดีที่มีหลักการและมีใจเป็นธรรมทั้งหลายคงจะต้องลงความเห็นตรงกันอย่างแน่นอนว่า กวีนิพนธ์คำกาพย์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ชิ้นนี้ “นายผี” เขียนขึ้นอย่างไว้ฝีมือ เปี่ยมเต็มไปด้วยขั้นเชิงด้านวรรณศิลป์ไทยที่ยากจะหากวีในรุ่นเดียวกันและในชั้นหลังเทียบเปรียบได้

ทั้งด้านรูปแบบ(Form) และ “เนื้อหา” (Content)!

ในด้านเนื้อหา แม้แก่นเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” จะเป็นการบรรยายบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษคือ “พระยาพล” อดีตเจ้าเมืองกาญจนบุรียุคต้นรัตนโกสินทร์ และเรื่องราวพัฒนาการทางความคิดหรือ “ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด” ของตัว “นายผี” เองจากความเป็น “ลูกหลานศักดินา” มาเป็นเป็น “นักคิด-นักต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ” ก็จริง

แต่ในขณะเดียวกันนั้น ผู้เขียนคือ “นายผี” ก็ได้บรรยายรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงสมัยของสังคมไทยเป็นฉากหลังของเรื่อง (Scenario)ไว้โดยตลอดด้วย เป็นเรื่อง “คู่ขนาน” ที่มีประโยชน์ในด้านความเป็น “ข้อมูลทางสังคม” เป็นอย่างสูงยิ่ง

ท้ังที่เกี่ยวกับโครงสร้างชั้นล่างของสังคม (Base structure) คือ ระบบเศรษฐกิจ-การเมือง และ เรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างขั้นบน(Super structure)คือการที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายทั้งปวง

ในด้านรูปแบบ(Form) ของการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ไทยนั้น นอกจาก “นายผี” จะสำแดงถึงการ “อนุรักษ์-สืบสาน-ต่อยอด” ฉันทลักษณ์ไทย คือ “กาพย์” ให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนแล้ว ยังทำได้อย่าง “สมสมัย”  และทั้งยังแสดงความยิ่งใหญ่แห่งการเป็น “นายภาษา” ที่สามารถ “สั่งคำได้เหมือนใจ” อย่าง “ขึ้นถึง” กวีขั้นครูยุคโบราณให้เห็นอีกด้วย

“ชุดภาษา” ซึ่งเต็มไปด้วยถ้อยคำที่วงการนักกวีเรียกกันว่าเป็นคำเชิง “กวิตานุมัติ” ที่ “นายผี” กล้าสำแดงใช้ในวรรณกรรมเอกเรื่องนี้นั้น นับเป็น “ข้อเด่น” ที่ผู้สร้างงานกวีนิพนธ์ไทยเชิงขนบชั้นหลังพึงสำเหนียกรู้และพึงต้องสนใจเป็นพิเศษ !

ความรู้ทางภาษาที่ลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างแท้จริงนั่นเอง ทำให้ “นายผี” กล้าหาญที่จะใช้คำเหล่านั้น ผู้ที่มีความรอบรู้ไม่กว้างขวางพอย่อมยากนักที่จะสร้างคำ “กวิตานุมัติ” เช่นนี้ขึ้นได้!

ในแง่ความเข้าใจเรื่อง “จังหวะ-ทำนอง” และ “น้ำหนักเสียง” ของ “เพลงกวี” อย่างลุ่มลึกกระมัง ที่ทำให้ “นายผี” ก่อการสร้างสรรค์รูปแบบ “กาพย์เชิงฉันท์” ขึ้นในลีลากาพย์ยานีเรื่องนี้!

เพียงพิจารณา “คุณค่า” ทั้งด้าน “content” และ “Form” ของกวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของ “นายผี”อย่างหยาบๆดังที่กล่าวมา ก็สามารถประเมินคุณค่าได้ระดับหนึ่งแล้วว่า วรรณกรรมเรื่องนี้หาได้เป็น “วรรณกรรมส่วนตัว” ของใครคนใดคนหนึ่งหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งไม่ แต่น่าจะกลับกัน คือเป็น “วรรณกรรมของมวลชน” ที่ทรงค่ายิ่งอย่างแท้จริง!

 กล่าวค้างไว้ตั้งแต่ช่วงต้นๆเรื่องว่า วรรณกรรมเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” นี้ “นายผี” ได้ซ่อน “นัย” ระหว่างวรรคระหว่างบทของกวีแต่ละช่วงไว้ไม่น้อย คนชั้นหลังที่ได้อ่านส่วนหนึ่งอาจยากแก่การทำความเข้าใจ ยิ่งยุคสมัยที่ผู้คนถูกกระแสบิดเบือนให้ไม่เห็นถึงความสำคัญของ “ประวัติศาสตร์” อย่างยุคปัจจุบันด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงหนักเข้าไปอีก เพราะการเสพบทกวีอย่าง “ไม่รู้ความแจ่มชัด” ย่อมยากที่จะ “กินใจ” ไม่ว่ากวีนิพนธ์ชิ้นนั้นจะมีฝีมือแต่งที่เลอเลิศพิสดารสักปานใดก็ตาม

“นายผี” สร้างวรรณกรรมชิ้นนี้ขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองตกอยู่ในมือของ “ผู้นำเผด็จการ” ท่านจึงต้องระมัดระวังการกล่าวถึงเนื้อหาในเรื่องบางเรื่องอย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาไว้อย่างมีชั้นเชิง ทั้งตัวท่านเองตอนนั้นก็เหมือนกับต้องเขียนในภาวะ “เขียนพลางหนีพลาง” เหมือนกับที่ท่าน “หลู่สวิ้น” หัวขบวนนักเขียนปฏิวัติรุ่นใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเคยกล่าวถึงตัวท่านเองไว้ในช่วงที่เขียนงานชุด “หญ้าป่า” (Wilde grass )เช่นกัน

“ความนัยที่ซ่อนไว้” ใน “ความเปลี่ยนแปลง” นั้นมีหลายบทหลายตอนด้วยกัน แต่ด้วยข้อจำกัดจะขอไขความตามที่พอจะเข้าใจให้ฟังเพียงสักท่อนหนึ่ง คือท่อนท้ายสุดที่เป็นตอนจบสรุปเรื่อง ซึ่งก็ได้กล่าวความถึงมาก่อนบ้างแล้ว

ท่อนท้ายสุดตอนจบเรื่องนั้น “นายผี” ได้รจนาเป็น “กาพย์ฉบัง 16” ไว้ว่า เมื่อ “ทิพรูป” โถมร่างชีวิตเข้าหลอมละลายทรากกายเดิมจนกลายเป็น “เพชรรูป” เรียบร้อยแล้วก็จึง

“…ขึ้นจากเบ้าหลอมทันที/มือถือคัมภีร์/ลายแทงอันเรืองฤทธา/เขม้นมุ่งเขาเขียวบมิคลา/ดูดวงดารา/ทั้งห้าก็เต้าตามดาว/ห้าดาวส่งแสงสุกสกาว/พร่างพร่าวกลางหาว/ให้เห็นวิถีทางจร/เอาเบ้าใส่ไม้คานคอน/เคียงเชษฐภารดร/ก็เดินในดงกันดาร/บุกป่าฝ่าห้วยเหวธาร/เห็จขึ้นเขาทยาน/แลลงยังท้องชลธี/ข้ามห้วงมหาวารี/มุ่งหน้าบมิหนี/ตระหนักในภพอำไพ/สารพันสรรพางค์พิไล/เอื้ออุทิศไป/แลเพชรรูปสำเริง”

ความที่ “นายผี” ต้องการบอกตอนนี้ก็คือ พร้อมกับการขึ้นจากเบ้าหลอม ตนก็ได้ “คัมภีร์ลายแทงอันเรืองฤทธา” มาด้วย คัมภีร์ที่ว่าก็คือ “ความคิดมาร์กซ์-เลนิน” ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ยุคนั้นนั่นเอง ส่วน “เห็นดวงดาราทั้งห้าก็เต้าตามดาว”นั้น หมายถึงการยึดแนวทางการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศโดยการใช้ “ชนบทล้อมเมือง” ตามแนวทางสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เพิ่งปฏิวัติชนะและเพิ่งประกาศสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นใหม่ๆ 

“ดวงดาราทั้งห้า” ก็คือภาพดาวทั้ง 5 ดวงที่ปรากฏในธงของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่นั่นเอง ส่วนวรรคอื่นๆคงจะพอเข้าใจกันได้ นั่นคือ “นายผี” ได้ตัดสินใจ “เข้าป่า” เพื่อร่วมรบกับชาวพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆที่ทำการสู้รบด้วยกำลังอาวุธอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง

อีกนิดคือคำ “ข้ามฝั่งมหาวารี” คำนี้นายผีเอามาจากวรรณคดีไทยโบราณคือ “สมุทรโฆษคำฉันท์” ตอน “พระมหาบุรุษ” ทรงว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร(แห่งสังสารวัฏ)นั่นแท้ๆเทียว

ก็ขอจบการขับขานถึง “ความเปลี่ยนแปลง” ของ “นายผี” ด้วยวาทะของกวีรัตนโกสินทร์ คือท่านเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ก็แล้วกัน ท่านเคยกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า :

“… “นายผี” ถอดหัวใจเขียนมหากาพย์แห่งชีวิตเรื่องนี้อย่างสุดไม้สุดมือ ชนิดที่ผมจับอ่านแล้ว ก็ต้องอ่านลุยจนวางไม่ลง อ่านครั้งใดก็ดังได้นั่งขัดสมาธิ สองมือคว่ำ เท้าเข่ากางศอกออก อหังการไปกับลีลากวีโวหาร อิ่มอกอิ่มใจเสียจริงๆ…”