ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

ใครเล่าจะเชื่อว่าคนจบป.4 มีความสามารถในการเขียน จนกระทั่งผลงานก้าวสู่ระดับ “โกอินเตอร์” หรือระดับสากล เรื่องสั้นได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ 30  กว่าเรื่องและหลายเรื่องได้รับการแปลถึง 7 ภาษาได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน โปแลนด์  เดนมาร์ก ญี่ปุ่น จีนและมาเลย์

ก่อนที่ศรีดาวเรืองจะเป็นนักเขียนเรื่องสั้นระดับแถวหน้าของเมืองไทย เธอผ่านงานมาสารพัดแบบ ไม่เกี่ยงว่าเป็นงานที่ต่ำต้อย ขอให้เป็นงานสุจริตเป็นพอได้แก่ คนเลี้ยงเด็ก คนรับใช้บ้านฝรั่ง กรรมกรโรงงานแก้ว กรรมกรโรงงานทอกระสอบ  ลูกจ้างร้านอาหารฯลฯ ประสบการณ์ชีวิตจากการทำงานมาหลายอย่าง อัดแน่นอยู่ในความทรงจำ จนกลายเป็นวัตถุดิบในการเขียนในภายหลัง 

ครั้งที่นิตยสารโลกหนังสือที่มีสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ เปิดตัว “ศรีดาวเรือง”

ในโลกหนังสือ ฉบับเดือนเมษายน 2522  ซึ่งเป็นการบอกเล่าชีวิตบางส่วน พร้อมบทวิจารณ์เรื่องสั้นของศรีดาวเรือง คนอ่านและคนในวงวรรณกรรมบางคนยังไม่เชื่อว่าศรีดาวเรืองเขียนเรื่องสั้นได้ เพราะเรื่องสั้นของศรีดาวเรืองที่ตีพิมพ์ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มีความโดดเด่นราวกับเป็นฝีมือการเขียนของนักเขียนรุ่นลายคราม

บางคนทึกทักว่าเป็นนักเขียนเก่าอย่างสุวัฒน์ วรดิลก(รพีพร) จารึก  ชมพูพล(ศักดิ์ สุริยา อ้อย อ้จฉริยกร ดาวไสว ไพจิตร) บางคนยิ่งกว่านั้น คิดว่าเป็นนายผี(อัศนี พลจันทร)เพราะผลงานแนวกรรมาชีพโดดเด่นมาก ยุคนั้นมีแต่นักเขียนชายเท่านั้นที่เขียนได้อย่างนี้ เหตุที่มีการเปิดตัวศรีดาวเรือง เพราะก่อน 6  ตุลาคม 2519 สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งได้แอบอ้างว่าได้รับอนุญาตจากศรีดาวเรืองให้เป็นผู้พิมพ์รวมเรื่องสั้นของเธอ ขนาดที่ว่าพิมพ์ปกเรียบร้อย ทำให้เสถียร  จันทิมาธรต้องทำหน้าที่‘โปลิศวรรณกรรม’ สำนักพิมพ์แห่งนั้นจึงถอยร่นไป

โบตั๋น นักเขียนนวนิยายชื่อดังอดรนทนไม่ได้ที่คนปรามาสว่า คนจบป.4 เขียนหนังสือไม่ได้ จึงเขียนจดหมายไปยังนิตยสารโลกหนังสือถึงศรีดาวเรือง  มีใจความสั้น ๆ ว่า...

“ใครจะไม่เชื่อว่าคนจบป.4 เขียนหนังสือไม่ได้ก็ตาม  แต่ดิฉันเชื่อว่าการเขียนหนังสือไม่ เกี่ยวว่าจะจบการศึกษาระดับไหน เหมือนตอนที่ดิฉันเขียนเรื่อง‘จดหมายจากเมืองไทย’ คนไม่เชื่อว่าเด็กอายุ 20 กว่าเขียน  เขาคิดว่าต้องเป็นผู้ใหญ่เขียน  ขอเป็นกำลังใจให้เขียนต่อไป”

ไม่ใช่ว่าศรีดาวเรืองเก่งกาจ เขียนเรื่องสั้นแล้วได้ลงเลย เธอต้องล้มลุกคลุกคลานเช่นกับนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคน จึงขอย้อนเวลากลับไปในอดีตของนักเขียนหญิงผู้นี้สักเล็กนน้อย ศรีดาวเรืองเกิดที่ตำบลบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก แม้เธอเรียนจบแค่ชั้นป.4 เพราะครอบครัวยากจน มีลูกทั้งหมด 9  คน พี่ชายคนโตเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก  พ่อทำงานรถไฟ แม่ทำขนมขาย เธอเป็นคนรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเวลาพ่อขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯ จะขนหนังสือมาเป็นลัง โดยเฉพาะเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ทำให้เธอมีโอกาสอ่านหนังสือมากมาย ดังที่เธอบอกเล่า

“อ่านหนังสือออกตั้งแต่อยู่ป.3 พ่อแม่ชอบอ่านเรื่องลักษณวงศ์ รามเกียรติ์โคบุตร พล นิกร กิมหงวนของป. อินทรปาลิต ก็ได้อ่าน อ่านให้ยายฟัง  ตอนโตอ่านนวนิยายตามนิตยสารที่ยืมเขามา”

เธออ่านหนังสือมากจนติดงอมแงม เรียกว่าขาดหนังสือไม่ได้ บางเรื่องเมื่ออ่านจบ เธอจะจินตนาการต่อเอาเองว่า เรื่องน่าจะเป็นยังงั้นยังงี้  เมื่ออ่านมากๆ เข้า ทำให้อยากเขียนบ้าง เธอจึงเขียนเรื่องสั้นชื่อ“ลาก่อนคนบาป”ที่คิดฝันขึ้นเองตามประสาเด็กสาวอายุยังไม่ถึง 15 ปี ซ้ำเขียนด้วยดินสอบนสมุดเล่มละสลึง ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดพิษณุโลกที่ประกาศรับ แต่ไม่ได้ลง

 เรื่องต่อ ๆ มาเธอส่งไปนิตยสารสกุลไทยและหนังสืออื่น ๆ อีกหลายฉบับ ทว่า มีแต่ความเงียบสะท้อนกลับมา เธอจึงหันหลังให้ถนนนักเขียน หยุดความฝันที่อยากเป็นนักเขียน  เพราะมันไกลเกินเอื้อม ก้าวเดินไปสู่ถนนผู้ใช้แรงงาน เธอจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อหางานทำ เพราะไม่ได้เรียนต่อ ขนาดจบป.4  ยังไม่มีเงินไปถ่ายรูปไปติดใบสุทธิ จึงไม่ได้ไปเอาใบสุทธิ

“เข้ากรุงเทพฯ นั่งรถไฟครั้งแรก ความรู้สึกเหมือนนั่งเครื่องบินเลย”

เธอเปิดเผยถึงความรู้สึกของเด็กต่างจังหวัดที่เข้ากรุงเทพฯเป็นครั้งแรกแกมหัวเราะน้อย ๆ ครั้งที่ผมสนทนากับศรีดาวเรืองเมื่อนานมาแล้ว ตอนที่ลงจากรถไฟที่หัวลำโพง เธอเห็นผู้คนคลาคล่ำ ยังคิดตามประสาซื่อเด็กบ้านนอกว่าเขามีงานบุญงานบวชกัน งานแรกในเมืองกรุงที่เธอทำคือเป็นคนเลี้ยงเด็ก ได้เดือนละ 100 บาท ต่อมาจึงไปทำงานในโรงงานแก้ว มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกนั่นก็คือ... 

“โรงงานแก้ว ได้เดือนละ 120 บาท ส่งให้แม่ 100 บาท”

ศรีดาวเรืองต้องส่งเงินช่วยเหลือทางบ้านด้วย เพราะแม่ต้องลี้ยงน้อง ๆ อีก 7 คน เธอเหลือเงินแค่  20 บาท  จะพอใช้ได้อย่างไร เธอจึงหางานพิเศษทำ โดยไปรับจ้างล้างส้วม ส่วนที่พัก เธอเช่าห้องอยู่กับเพื่อน ๆ แต่ไม่มีทั้งหมอนและมุ้ง มีผ้าห่มผืนหนึ่งใช้ทั้งหนุนหัวและห่ม เธอเล่าว่างานที่เธอได้เงินเดือนมากที่สุด จนหัวใจพองโต เพราะจะได้มีเงินส่งไปให้ทางบ้านด้วยคือ ตอนไปคนรับใช้บ้านฝรั่ง

“ได้เดือนละ 400 บาท ทำทุกอย่างที่เขาเรียกใช้ แล้วยังให้ข้าวสารอีกหนึ่งถัง”

ศรีดาวเรืองเป็นคนที่รู้จักขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว เพราะเป็นคนอยากรู้อยากเห็นและแสวงหาใส่ใหม่ ๆ ตอนที่เธอทำงานอยู่ร้านอาหาร เธอสมัครเรียนพิมพ์ดีดกับเรียนภาษาอังกฤษขั้นต้นไปด้วย เพราะเธอคิดไว้ในใจว่าอยากรู้ภาษาอังกฤษ ตอนที่เป็นคนรับใช้บ้านฝรั่ง แม้กระทั่งไปสมัครเรียนตัดเสื้อ เรียนยิงปืนและเรียนขับรถ

“ทุกอย่างที่เรียนมา เอามาใช้ในงานเขียนได้หมด ไปเรียนขับรถ แต่จนป่านนี้ยังไม่มีรถเลย”เธอทิ้งท้ายประโยคอย่างมีอารมณ์ขัน

อาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้เขียนเรื่องชุด เหมืองแร่ อันยิ่งยง เคยพูดกับผมว่า...

“ทุกคนเกิดมา Born To Be  คนเราจะเป็นอะไร มันต้องได้เป็น ถ้าเกิดมาเพื่อจะเป็นสิ่งนั้น ดูอย่างคำพูน บุญทวี เป็นลูกชาวนา ถีบสามล้อ เป็นผู้คุม เป็นสารพัดอาชีพ เขียน“ลูกอีสาน”ลงในฟ้าเมืองไทย ดังเลย”

ในเมื่อวิถีชีวิตกำหนดมาให้เป็นนักเขียน มันก็ต้องได้เป็นวันยังค่ำ วุฒิการศึกษาหรือการศึกษาในสถาบันระดับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดของคนเป็นนักเขียน ความสามารถในการเขียนเกิดการบ่มเพาะการอ่าน เพราะหนังสือเป็น “ครู”ที่ดีที่สุด รวมทั้งความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด เพื่อก้าวข้ามกำแพงอุปสรรคต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ

เช่นเดียวกับศรีดาวเรือง ไฟในการเขียนที่พร่างโพรงอยู่ในหัวใจ ทำให้เธอหวนกลับมาจับปากกาอีกครั้งในปี 2516 ทิ้งห่างจากครั้งแรกกว่า 10 ปี จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา 16 เมื่อเธอได้เจอกับสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในขณะนั้นเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ หลังจากได้รู้จักและพูดคุยกันหลายครั้ง สุชาติ สวัสดิ์ศรีก็ให้คำแนะนำเรื่องการอ่านและการเขียน

เรื่องสั้นช่วงแรก ๆ ที่ศรีดาวเรืองเขียนส่งไปนิตยสารอื่น ๆ หลายฉบับด้วยกันได้แก่ ลลนา สตรีสาร ฯลฯ ใช้ชื่อ-สกุลจริงคือ วรรณา ทรรปนานนท์ เธอจึงเขียนเรื่องสั้นส่งไปสังคมศาสตร์ปริทัศน์ กระทั่งเรื่องสั้นเรื่องแรก “แก้วหยดเดียว”จากประสบการณ์ที่เธอทำงานในโรงงานแก้ว ย่านภาษาเจริญ เป็นเรื่องราวของกรรมกรในโรงงานแก้วที่ถูกกดขี่แรงงวาน ทั้งที่ยากแค้นวันหนึ่งความอดทนของคนงานหญิงคนหนึ่งก็หมดสิ้น เมื่อคนงานคนหนึ่งถูกไล่ออก หล่อนจึงลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม  

เรื่องสั้น “แก้วหยดเดียว”ได้รับการตีพิมพ์ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับ “ถีบลงเขา เผาลงถัง” ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2518  ใช้นามปากกาว่า “ดาวเรือง” ที่มาของนามปากกานี้ เธอเล่าว่าครั้งยังเด็กไปอาบน้ำในคลอง เห็นดอกไม้ต้นหนึ่งข้างทาง จึงเด็ดไปให้พ่อ เป็นดอกสีเหลือง พ่อจึงตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Yellow Star” แปลได้ความว่าคือ ดอกดาวเรือง เธอบอกว่าความจริงแล้วคือ ดอก

กระดุมทอง นามปากกานี้สุชาติ  สวัสดิ์ศรีเติม “ศรี”เข้าไป เป็น “ศรีดาวเรือง” ดังที่นักเขียนชายรุ่นเก่านิยมมีคำว่า “ศรี”นำหน้านามปากกา

หากจะกล่าวว่าสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นผู้จุดไฟในหัวใจอีกดวงหนึ่งให้กับศรีดาวเรือง ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเรื่องสั้นระดับคุณภาพเรื่องต่อ ๆมาของศรีดาวเรืองก็ได้รับการตีพิมพ์ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ 

 

 

“ไม่ว่าในส่วนไหนของนรกที่เราอาศัยอยู่ก็ตาม  ผมคิดว่าเรามีอิสระที่จะแหกออกมาและถ้าคนเราไม่แหกออกมา  เขาก็เลือกอยู่ในนรกนั้นด้วยเจตจำนงอิสระของเขา  นั่นก็คือเขาเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนรกนั้นอย่างเสรี”(ยัง  ปอล  ซารต์)