ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

 

“ทรัพย์สมบัติของชาติ” คืออะไร? ในที่นี้ผมขอนิยามอย่างง่ายว่า คือสิ่งที่ประเทศนั้นๆมีอยู่มากมาย และสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับประเทศได้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำมัน ในประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น

แล้วประเทศไทยของเราล่ะ มีอะไรเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ?

พี่น้องครับ ประเทศไทยของเราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่อยู่ใน เขตมรสุม และ เส้นศูนย์สูตร ไปพร้อมๆกัน การอยู่ในเขตมรสุม นั่นหมายความว่า เรามีลมมรสุมพัดผ่านเป็นประจำทุกปี ซึ่งของประเทศไทยเรานั้น ก็คือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นเอง

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นี่แหละครับสำคัญ มรสุมนี้พัดพาเอาฤดูฝนมาให้เรา ทำให้เรามีฝนตกตลอดต่อเนื่องกว่าปีละ 6 เดือน ฝนที่ตกนี้ก็แน่นอนว่าไม่ใช่ปรอยๆ แต่เป็นฝนที่ตกอย่างหนักติดต่อกันหลายเดือน เมื่อรวมกับการอยู่ในเส้นศูนย์สูตรเข้าไป ก็จะทำให้เราได้แสงแดดมหาศาล เมื่อมีน้ำ แสงแดด และความชื้น ถ้าใครเคยเรียนสปช.สมัยเด็กๆ หรือเคยปลูกต้นไม้ จะรู้ได้ทันทีว่า นี่คือ องค์ประกอบสำคัญที่สุดของการปลูกพืช จะบอกว่า เราเป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกที่มีคอนดิชั่นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกพืช ก็ไม่ผิดแต่อย่างใดครับ

ดังนั้น เรากล่าวได้ว่า “น้ำ ความชื้น และแสงแดด” นี่แหละ คือ “ทรัพย์สมบัติของชาติ” ที่แท้จริง เป็นสิ่งที่สวรรค์ประทานให้โดยแท้ และอยู่กับเรามาช้านานและยังคงจะอยู่ต่อไป ทำให้เราผลิตอาหาร และผลิตผลทางการเกษตรได้ดี นี่เป็นคอนดิชั่นที่ฝรั่งเมืองหนาวเขาออกล่าอาณานิคมกันในอดีตเพื่อที่หาพื้นที่ผลิตอาหารนั่นเอง

แต่น่าเศร้าใจ...ที่เรายังไม่ได้ใช้ “ทรัพย์สมบัติของชาติ” อันเป็นจุดแข็งของเราให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

ที่ผ่านมาเราพยายามผลักดันภาคส่วนอื่นๆ จนบางครั้งเหมือนกับพี่น้องเกษตรกรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุกจนกระจาย เพราะเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อมาถึงจุดนี้ ต้องตั้งคำถามต่อว่า แล้วเราควรทำอย่างไร?

อันดับแรกต้องแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรเสียก่อน เพื่อให้นำไปสู่การผลิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนมาก ซึ่งปัญหาของเกษตรกรนั้น มีอยู่สองปัญหาหลักๆ คือ การปลูก และการขาย ครับ

ในด้านการปลูก อันดับแรก ต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทุกท่านน่าจะเคยได้ยินกันว่า “น้ำคือชีวิต” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่จริงอย่างไม่สามารถโต้แย้งได้ ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นมีชีวิต มีพืชผัก มีอาหาร ประเด็นคือ เรายังบริหารจัดการน้ำที่เป็นจุดแข็งของเราไม่ได้ จนกระทั่งว่าในบางปี จุดแข็งของเรากลายเป็นจุดอ่อนไปเสียอีก คือเกิดทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง

ซึ่งถ้าย้อนกลับไปพูดถึงคอนดิชั่นที่ผมเล่าไปตอนแรก ก็ต้องร้องดังๆว่า ปุดโธ่ปุดถังกะละมังหม้อ! “ประเทศนี้มันแล้งได้อย่างไร?!” เพราะเรามีฝนตกทุกวันติดต่อกันหกเดือนเต็มๆ

ข้อเท็จจริงที่น่าเจ็บปวดคือ น้ำที่หล่นจากฟ้ามาให้เรา 100 หยด เราเก็บได้ไม่ถึง 10 หยด ใช่แล้วครับอ่านไม่ผิดหรอกครับ เราเก็บน้ำฝนไว้ได้ไม่ถึง 10% ของปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี ที่เหลือไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ลงแม่น้ำ ลงทะเล ลงใต้ดินเสียหมด เมื่อน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำแล้วไม่มีที่ไป มันก็ท่วมสิครับ และพอหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ นี่จึงเป็นปัญหาว่าทำไมเราจึงมีทั้งน้ำแล้วและน้ำท่วมพร้อมๆกัน

ทุกท่านครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวทางที่เรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่” ไว้นานมากๆแล้ว แต่เรายังไม่ได้เห็นการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แนวทางดังกล่าวคือการจัดสรรพื้นที่ในไร่นาให้มีพื้นที่เก็บน้ำ 30% ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ได้รับการพิสูจน์ทางวิชาการของฝรั่งมังค่าเช่นกัน โดยบ้านเขาเรียกว่าการทำ Farm Pond ซึ่งเป็นวิธีการพื้นฐานภายใต้หลักการ Rain Water Harvesting หรือแปลได้ว่า “การเก็บเกี่ยวน้ำฝน” นั่นเอง ดังนั้นเราพูดได้เต็มปากว่าแนวทางที่คนไทยได้รับพระราชทานมานั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วด้วยหลักการทางวิชาการ

นี่คือสิ่งที่ผมเสนอว่าควรจะทำ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาการปลูกพืชของเกษตรกรครับ เมื่อมีการบริหารจัดการให้เก็บน้ำฝนได้ เกษตรกรจะมีน้ำเหลือเฟือ จะทำนาสองรอบก็ย่อมได้ พืชผลก็จะงอกงาม ทำราคาได้ดีขึ้น เมื่อเรามีน้ำเพียงพอแล้ว ก็เท่ากับรถเรามีน้ำมัน หลังจากนั้นก็ต้องมาว่ากันเรื่องของการพัฒนาการปลูก ทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ มีความแตกต่างจากผลผลิตของประเทศอื่นๆเขา ลดต้นทุนเพิ่มมูลค่าเข้าไปให้ได้เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นทำ แล้วก็มาว่ากันต่อเรื่องการขาย เสียดายที่พื้นที่มีจำกัด ไว้สัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าให้อ่านกันต่อว่า นอกจากการบริหารจัดการน้ำแล้ว จะมีอะไรที่ช่วยเกษตรกรไทยได้อีก และเราจะใช้ประโยชน์จาก “ทรัพย์สมบัติของชาติ” ได้อย่างไร

แต่ไหนๆแล้วก็ขมวดปมไว้นิดนึง ว่าจะมีรัฐบาลไหนไหมหนอที่จะเอาแนวทางนี้มาทำอย่างจริงจังเสียที ถ้าใครทำจริงๆสักทีก็จะยกมือไหว้สาธุอนุโมทนาบุญด้วย เพราะเป็นบุญใหญ่แก่คนหมู่มาก แถมยังเป็นการลงทุนที่ไม่ซับซ้อน แต่แก้ปัญหาได้ทั้ง “การผลิต” “น้ำท่วม” และ “น้ำแล้ง” เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว เด้อ

ยังไม่เอวัง เพราะมีต่อสัปดาห์หน้า