ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยสำคัญในการฉุดรั้งเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสังคม อาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นความเครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับ เก็บตัวไม่เข้าสังคม หนี้เก่ายังสะสางไม่หมด ก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้น

ความคิดลบ และการกระทำลบ ตัดสินใจผิดพลาด กระทั่งคิดสั้น เข้าสู่เส้นทางอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย ปล้นชิง กระทั่งหลอกลวงผู้อื่น เพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้สิน ที่สร้างความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทำร้ายร่างกายตนเอง คนในครอบครัวและผู้อื่นเพื่อหนีปัญหาหนี้สิน เป็นต้น

ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติข้อมูลกกลุ่มอายุมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่ม 40 - 49 ปี มีมูลค่าหนี้สินคงค้างสูงที่สุดในช่วงปี 2563 - 2565 โดยปี 2565 มีมูลค่าหนี้คงค้าง 3.9 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 30 - 39 ปีที่ 3.6 ล้านล้านบาท แต่หากพิจารณาการขยายตัว พบว่าหนี้ของกลุ่มผู้สูงอายุขยายตัวสูงที่สุด ซึ่งในระหว่างปี 2563 - 2565 ขยายตัวเฉลี่ยถึง 7.9%  ต่อปี

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุ 6 เดือนแรกของปี 2566  ครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้ทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 29,502 บาท  มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 24,362 บาท  มีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อ ครัวเรือนทั้งสิ้น 208,331 บาท สัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ร้อยละ 82.6  รายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่คือ รายได้จากการทำงาน 20,799 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70.5 โดยเป็นรายได้ จากค่าจ้างและเงินเดือนสูงสุด สำหรับ ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั่วประเทศ 6 เดือนแรกของปี 2566  ส่วนใหญ่คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 21,262 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87.3 โดยเป็นค่าใช้จ่ายหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบสูงสุด

ครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงจากร้อยละ 51.5 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 48.5 ในปี 2566 (6 เดือนแรก) โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินที่ใช้ในครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 163,115 บาท

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านการกระจาย รายได้ของครัวเรือน พบว่า มีค่าลดลงจาก 0.310 ในปี 2564 เป็น 0.286 ในปี 2566 (6 เดือนแรก) แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำด้านการกระจาย รายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง

ความพยายามในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน ที่มีความพยายามให้องค์ความรู้ และกระบวนการจัดการปัญหา โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนแบบสั่งตัด ให้เหมาะสมกับกลุ่มต่างๆ

สำหรับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะมีการแถลงนโยบายแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ เราคาดหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ และเกิดความยั่งยืน