สถาพร ศรีสัจจัง

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบ “ราชาธิปไตย” (Monarchy) ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ มาเป็นระบอบ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” (Constitutional monarchy) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อย่างที่รู้ๆกันมานานแล้ว                                                   

ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองดังว่า จนถึงปัจจุบัน เรามี “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมาแล้วรวม 20 ฉบับ ( ช่วงแรกๆเรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” เพราะประเทศเพิ่งเปลี่ยนชื่อจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2482 หรือเมื่อ 84 ปีที่ผ่านมานี้เอง) แต่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วรวมถึง 23 ครั้ง!                                

มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)มาแล้วรวม 27 ครั้ง                                                 

มีคนไทยได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศ คือเป็น “นายกรัฐมนตรี” มาแล้ว รวมทั้งสิ้น 30 คน! (บางคนเป็นเกิน 1 สมัย)           

การเลือกตั้งสส.ครั้งแรก มีจำนวนที่นั่งในสภาทั้งสิ้น 156 ที่นั่ง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2475 ของ “คณะราษฎร” ที่เป็นกลุ่มผู้ก่อการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 (ดังได้กล่าวมาแล้ว) นั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ ในจำนวนที่นั่งในสภาฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าให้มีรวมทั้งสิ้น 156 ที่นั่งนั้น ได้กำหนดรายละเอียดว่า ให้มาจากตัวแทนของประชาชน 78 ที่นั่ง และ ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 78 ที่นั่ง 

ที่ว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมก็เพราะ ในการเลือกตั้งตัวแทนของจังหวัด (ตอนนั้นประเทศไทยแบ่งเป็น 70 จังหวัด) แต่ละจังหวัดนั้น ให้กรมการอำเภอแต่ละอำเภอดำเนินการให้ราษฎรที่มีสิทธิเลือกตั้งเลือกตัวแทนมาตำบลละ 1 คน และให้ตัวแทนเหล่านั้นเป็นผู้มาเลือก “ผู้แทนราษฎร” อีกทีหนึ่ง                            

การเลือกตั้งครั้งแรกนี้ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาล “คณะราษฎร” เพิ่งปราบ “กบฏบวรเดช” เสร็จสิ้นไม่นานนัก ยังไม่มีการให้จัดตั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครเข้ารับเลือกเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” จึงล้วนเป็นผู้สมัครประเภทอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองทั้งสิ้น                                 

การเลือกตั้งครั้งแรกนี้ โดยทั่วไปได้ผู้แทนราษฎรจังหวัดละ 1 คน มีเพียง 4 จังหวัดที่มีผู้แทนฯได้ 2 คน คือจังหวัดเชียงใหม่,ร้อยเอ็ด,นครราชสีมา และ มหาสารคาม ส่วนที่มีได้ถึง 3 คนคือจังหวัดพระนคร(กรุงเทพฯ) และจังหวัดอุบลราชธานี             

ผู้ที่ได้รับเลือกจากตัวแทนประชาชน (ที่ประชาชนแต่ละตำบลเลือกมา 1 คน) ให้ได้เป็นสส.ในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้เป็นผู้แทนฯต่ออีกหลายสมัย รวมถึงได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศหลังจากนั้นก็เช่น นายเลียง ไชยกาล (สส.อุบลราชธานี) เจ้าของญัตติอภิปรายเรื่องการฉ้อฉลซื้อขายที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของสมาชิก “คณะราษฎร” บางคน จนทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเกิดความละอายใจ จนต้องประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร  นี่คือการยุบสภาฯครั้งแรกของระบบการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย!              

อีกคนที่ควรรู้จัก คือ นายทองอินทร์  ภูริพัฒน์ อดีตเสรีไทยที่เป็นสส.จากจังหวัดอุบลราชธานีเช่นกัน นายทองอินทร์  ภูริพัฒน์ ถือเป็นนักการเมืองประเภท “น้ำดี”  เป็นเสรีไทยทำงานร่วมมากับนายปรีดี  พนมยงค์ ที่เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายทองอินทร์ มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ภาคอีสานร่วมกับนายเตียง ศิริขันข์ นักการเมืองชาวอีสานผู้โด่งดังอีกท่านหนึ่ง นายทองอินทร์ ผู้นี้เป็น 1 ใน 4 ของนักการเมืองที่ถูกจับตัวไปยิงทิ้งแถบทุ่งบางเขนในยุคจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นช่วงที่กรมตำรวจภายใต้การนำของพล.ต.อ.เผ่า  ศรียานนท์เรืองอำนาจ ใครที่สนใจรายละเอียดเรื่องนี้ก็สามารถหาอ่านเรื่องราวได้ทั้งจากเอกสารประเภทหนังสือและใน “ออนไลน์”           

จากปีพ.ศ. 2476 ที่มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนถึงการเลือกตั้งครั้งที่ 27 ในปีพ.ศ. 2566 ที่เพิ่งพ้นผ่านมาหมาดๆรวมเวลาแล้วยาวนานถึง 90 ปี!                 

ในปีที่ 90 นอกจากเราจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตัวสูงๆ(ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงทางการเมืองมาก่อน) ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ในยี่ห้อ “พรรคเพื่อไทย” (ที่ใครๆก็นินทากันจนฉาวโฉ่ว่าเป็นของคุณทักษิณ ชินวัตร นักโทษที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศมานับสิบปี ที่เพิ่งกลับมาเมืองไทยในวันที่มีนายกฯมาจากพรรคของตัวเอง เพื่อมา “ติดชั้น 14ของโรงพยาบาลตำรวจ” แทนการติดคุกตั้งแต่วันแรกที่เพิ่งมาถึง โดยจนถึงบัดนี้สังคมไทยทั้งสังคมก็ยังคงฉงนในความลึกลับซับซ้อนของเรื่องราวอยู่ แต่ยังไม่มีใครหรือ “องค์กร” ทางกฎหมายของรัฐองค์กรไหนทำให้ชาวบ้านหูตาสว่างในเรื่องนี้ได้เลย!)แล้ว

มีอะไรทางการเมืองและระบบการปกครองของประเทศไทยที่ชี้ชัดได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง?   

และนักการเมืองไทยรุ่นนี้ ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย, ก็ประกาศ “การผลิตซ้ำ” เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเอาจริงเอาจังอีกครั้ง!

เพิ่มสถิติการแก้รัฐธรรมนูญไทยให้เป็นครั้งที่ 24!

แน่ละพวกเขาเชื่ออย่างแบบคนชาญฉลาดว่าว่าการแก่รัฐธรรมนูญนี้เองที่จะทำให้ระบอบการปกครองประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเร็วขึ้นและมากขึ้น?

เมื่อครั้งเรามีรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกนั้น มีหลักฐานเป็นจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่า “คนไทย” ในแทบทุกระดับชั้น ล้วนมีการรับรู้และมีความหวังร่วมกันว่า “ชีวิตคนไทยและสังคมไทยจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน” 

ครั้งนั้น ความคาดหวังเรื่อง “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ” เหมือนจะแผ่ซ่านครอบคลุมไปทั่วองคาพยพของประเทศ โดยเฉพาะในหมู่คนที่เป็นปัญญาชน นักคิด ผู้มีการศึกษา และนัก “อุดมคติ” ทั้งหลาย                     

ในหมู่นักเขียนเรามีภาพยืนยันของความ “ตื่นเร้า” เพื่อขานรับเจตจำนงในเรื่อง “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ”อย่างกว้างขวางเอาจริงเอาจัง                 

ที่เป็นตัวแทนได้เด่นชัดที่สุดก็เช่น งานวรรณกรรมชิ้นยิ่งใหญ่ที่ชื่อ “แลไปข้างหน้า” ของ “แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทย” ท่านกุหลาบ  สายประดิษฐ์ ในนามปากกา “ศรีบูรพา” หรือแม้แต่นักวรรณกรรมบ้านนอกปักษ์ใต้ชายขอบอย่าง “ชื่น  เกื้อสกุล” กวีพื้นบ้านชาวเกาะพงันยามนั้น ก็ได้บันทึกความรู้สึกชื่นชมศรัทธาใน “รัฐธรรมนูญ” ไว้อย่างสุดจิตสุดใจในวรรณกรรมเรื่อง “นิราศชื่น” อันมีชื่อเสียงของท่าน ฯลฯ                   

ที่สำคัญพึงตราไว้เป็นอย่างยิ่งก็คือความเห็นความรู้สึกของท่าน “พุทธทาสภิกขุ” หรือพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ พระหนุ่ม(ยามนั้น) ชาวปักษ์ใต้หัวก้าวหน้าผู้ก่อตั้ง “สวนโมกขพลาราม” ขึ้นเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในปีเดียวกันกับการอภิวัฒน์2475 นั่นเอง                 

ในห้วงยามนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุได้เทศน์ให้เห็นถึง “ความศักดิ์สิทธิ์” และ ความสำคัญของ “รัฐธรรมนูญ” (ฉบับโดย “คณะราษฎร” ปีพ.ศ.2475) ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญของเรา” ไว้อย่างปิติยินดีและสนับสนุน (ภายหลังมีการจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ บอกว่าต้นฉบับมีความยาวถึง 6 แผ่น) ดังความตอนหนึ่งที่ท่านระบุว่า :

“…รัฐธรรมนูญสยามเป็นเสมือนร่มโพธิ์ไทรเงาอันเย็นสนิท เป็นที่พึ่งพิงของประชาชนชาวสยามได้จริง ควรจะเทอดไว้ในฐานะเป็นยอดแห่งสิ่งที่ควรสักการบูชา เช่นเดียวกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์…”