รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ทุกวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดทั้งปัญหาครั้งคราว เรื้อรัง ซับซ้อน และไม่ซับซ้อน ซึ่งปัญหา ทุกปัญหาจะมีประเด็นที่เป็นอุปสรรค ความยากลำบาก ความเสี่ยง ความท้าทาย ความไม่แน่นอน ความผิดพลาด หรือความไม่รู้ แทรกอยู่ ซึ่งปัญหายังอาจเกี่ยวพันถึงสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามแต่ที่ขัดขวางความสำเร็จตามเป้าหมายหรือความคาดหวังส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขหรือหาทางออก ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วปัญหาเป็นช่องว่าง (Gap) ระหว่างสถานการณ์ปัจจุบันกับเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ

ปัญหาเกิดขึ้นได้หลากหลายแง่มุมและส่งผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว องค์กร หรือสังคมโดยรวม หลักสำคัญของการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิผลจำเป็นต้องระบุสาเหตุที่แท้จริง วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และกำหนดกลยุทธ์หรือแนวทางเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา การแก้ปัญหาสามารถรับรู้ได้จากผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาหรือผลงานที่นำไปสู่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย

สำหรับตัวอย่างปัญหาสำคัญ ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงคนไทยมีมากมายทั้งปัญหาส่วนบุคคล เช่น การเงิน สุขภาพ หรือความสัมพันธ์ ปัญหาสังคม เช่น ปัญหาความยากจน หรือปัญหาสงคราม ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5 โลกร้อน ขยะล้นเมือง การตัดไม้ทำลายป่า มลพิษต่าง ๆ ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปัญหาความยากจน เป็นต้น

หากพิจารณาลงลึกอาจสรุปว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยมากที่สุด ณ ขณะนี้ เพราะส่งผลต่อการกินดีอยู่ดีของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและแก้ไขยาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าครองชีพสูง ส่งผลให้คนไทยมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ปัญหาการว่างงาน ส่งผลให้คนไทยขาดรายได้และโอกาสในการประกอบอาชีพ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูง ส่งผลให้คนไทยมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและอาจนำไปสู่ภาวะล้มละลาย

ดังนั้น เพื่อเป็นการวัดความคิดเห็นของคนไทย ณ วันนี้ว่า เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดแล้วคนไทยต้องการที่พึ่งระดับใด ประเด็นปัญหาอะไรที่ทำให้ต้องการที่พึ่ง ต้องการใครหรือหน่วยงานใดเป็นที่พึ่งบ้างนอกเหนือจากตนเอง และประเด็นปัญหาที่รู้สึก อัดอั้นอยากระบายออกมานั้นมีอะไรบ้าง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ที่พึ่งของคนไทย ณ วันนี้” จำนวนตัวอย่างเท่ากับ 1,026 คน โดยสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2566  ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

1. ปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน คนไทยต้องการที่พึ่งระดับมาก ร้อยละ 52.34 ระดับปานกลาง ร้อยละ 36.06 และระดับน้อย ร้อยละ 11.60

2. ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันที่คนไทยต้องการที่พึ่ง ได้แก่ อันดับ 1 ของแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 57.79 อันดับ 2 เศรษฐกิจตกต่ำ ร้อยละ 55.14 อันดับ 3 การทำงาน ร้อยละ 44.47 อันดับ 4 ปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 41.33 และอันดับ 5 ปัญหาสุขภาพ ร้อยละ 35.46

3. บุคคลหรือหน่วยงานที่คนไทยหวังเป็นที่พึ่ง ได้แก่ อันดับ 1 ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ ร้อยละ 61.43 อันดับ 2 เพื่อนสนิท ร้อยละ 28.61 อันดับ 3 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร้อยละ 22.48 อันดับ 4 สถาบันการเงิน ธนาคาร ร้อยละ 19.34 และอันดับ 5 รัฐบาล ร้อยละ 18.46

4. ประเด็นปัญหาที่คนไทยรู้สึกอัดอั้นอยากระบายออกมา อันดับ 1 เศรษฐกิจไทยเมื่อใดจะดีขึ้น ร้อยละ 45.17 อันดับ 2 ของแพง เงินไม่พอใช้ ร้อยละ 43.87 อันดับ 3 มิจฉาชีพ โจร ผู้ร้ายที่มีมากขึ้น ร้อยละ 40.52 อันดับ 4 นักการเมืองไทยควรเลิกทะเลาะกัน ร้อยละ 37.36 และอันดับ 5 หนี้สินมาก ต้องกู้ยืมทั้งในระบบและนอกระบบ ร้อยละ 30.11

 จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลข้างต้นในภาพรวมกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าปัญหาที่คนไทยเผชิญหนักสุดคือ เศรษฐกิจ ถัดมาคือ สุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการเมือง ตามลำดับ แต่ประเด็นที่น่าขบคิดไม่น้อยก็คือ คนไทยกลับมองว่ารัฐบาลเป็นหน่วยงานที่ขอหวังเป็นที่พึ่งยามเดือดร้อนรั้งท้ายสุด ทั้งที่ปัญหาเศรษฐกิจ สุขภาพ และการเมืองของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม รวมถึง
การสืบทอดอำนาจการบริหารบ้านเมือง  

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ที่คนไทยยังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ จำเป็นต้องอาศัยพลังแห่ง ความร่วมมือ “Power of Collaboration” ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ หันมาจับมือกันหาทางออกที่สร้างสรรค์ให้คนไทยได้อยู่ดีกินดีและหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางกันเสียทีเถอะครับ

ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ คนไทยทุกคนก็ยังมีความหวัง “รออยู่ รอต่อ และยังรอต่อไปครับ”...