ประเทศไทยให้ความสำคัญกับแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.  ที่มีอายุครบ 24 ปี ไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยป.ป.ช.ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้พูดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ภายหลังการผลักดันผลักดันเพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตหลายประการ  เช่น           

“การเฝ้าระวังและส่งเสียง (Watch and Voice) คือการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการเฝ้าระวังและเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลที่เกี่ยวข้องกันการทุจริตในทุกรูปแบบ เช่น กรณีการทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และกรณีเงินทอนวัด เป็นต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคประชาชน และสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่มีบทบาทอย่างมากที่ทำให้เสียงของภาคประชาชนเหล่านี้ดังจนกระทั่งเรื่องนั้น ๆ เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในที่สุด                                                                                                           

การให้ประชาชนทั่วประเทศ ร่วมด้วยช่วยกันเปิดโปงกรณีการทุจริตในพื้นที่จังหวัดหรือท้องถิ่นของตน ด้วยการร่วมแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน ยกตัวอย่างกรณีโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โครงการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้าง โครงการขุดลอกลำคลองหรือก่อสร้างถนน ตลอดจนการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่สงวนหวงห้ามหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ป่าสงวน ป่าชายเลน หรือแม้กระทั่งชายหาด เป็นต้น                                                                                             

การมีคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน อาทิ การนำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตน หรือการนำรถยนต์ EV ส่วนบุคคลมาชาร์จไฟในพื้นที่ราชการ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้มุ่งในการปรับฐานความคิดด้านการแยกแยะประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมให้ประสบผลสำเร็จโดยนำกรณีตัวอย่างที่ศาลได้มีคำพิพากษาเพื่อสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

และ การร่วมกันตรวจสอบและติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในกรณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะของโรงเรียนเพื่อแลกกับสิทธิในการเข้าศึกษา การทุจริตนมโรงเรียน การฮั้วประมูลในโครงการต่าง ๆ หรือการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้านวัตกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้ผลักดันให้เกิดกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดให้มีกลไกการคุ้มครองพยาน การกันบุคคลไว้เป็นพยาน การจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่เข้ามาชี้ช่อง แจ้งเบาะแส ให้ข้อมูล หรือให้ข้อเท็จจริง กระทั่งนำไปสู่การพิพากษาดำเนินคดีและมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินจากการกระทำผิดนั้น ๆ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในการป้องกันการทุจริตกับภาคีต่าง ๆ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าสังคมมีความตื่นตัวและไม่ทนต่อการทุจริตมากขึ้น และกลไกต่างๆที่อำนวยให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากแต่คดีเกี่ยวกับการทุจริตยังคงมีจำนวนมาก ปัจจัยหนึ่งมาจากความขัดแย้งและแข่งขันกันทางการเมือง ที่พยายามอาศัยกลไกขององค์กรอิสระเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำลายคู่ต่อสู้ และทำให้องค์กรอิสระได้รับผลกระทบจากสงครามการต่อสู้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ฉะนั้น เราเห็นว่าผู้ที่จะเข้ามาสู่การเมือง และพรรคการเมือง ควรต้องพึงตระหนักในจริยธรรมนักการเมืองและศึกษากฎหมายต่างๆให้ละเอียดรอบคอบ กรั่นกรองให้หลายชั้น ถ้าสะอาดเข้ามาก็ไม่มีปัญหา