สถาพร ศรีสัจจัง

สรุปข้อมูลตัวเลขสำคัญๆเกี่ยวกับ “การเลือกตั้ง” (เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” ของสังคม) ของคนไทยที่ราษฎรไทยผู้เสียภาษีทั้งหลายควรจะได้รับรู้โดยทั่วกัน ก็คือ นับจากเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ซึ่งกินเวลาทั้งสิ้นรวม 91 ปี 5 เดือน (ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ”) น่าจะมีดังนี้ :

-มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วรวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง

-มีนายกรัฐมนตรีมาแล้วรวม 30 คน(คนปัจจุบันซึ่งเป็นคนที่ 30 ชื่อนายเศรษฐา  ทวีสิน)

-มีรัฐธรรมนูญ(กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ)มาแล้วรวม 20 ฉบับ

-มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วรวม 23 ครั้ง

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับประเทศไทยก็คือ เป็นประเทศที่ถูกวิจารณ์ว่า “ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองมาก” ก็ดูเอาเถิด เวลาเพียงประมาณ 90 ปี ใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วรวมทั้งสิ้นถึง 20 ฉบับ เหมือนกับเมื่อไหร่ที่ใคร (ซึ่งคิดว่าตัวเองมีอำนาจอยู่ในมือ) อยากจะลุกขึ้นมาฉีกรัฐธรรมนูญเล่น ก็สามารถใช้อำนาจที่ตนมีเข้ามาฉีกทิ้งได้เลยตามใจอยาก(หรืออะไรประมาณนั้น!)

เอตทัคคะหลายเสียงพูดกันว่าที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเมืองไทยมีการรัฐประหารกันบ่อยมาก นับตั้งแต่มีระบอบใหม่มาตั้งแต่พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน มีการยึดอำนาจรัฐโดยการรัฐประหาร (ทั้งหมดทำโดยกองกำลังจัดตั้งติดอาวุธที่เรียกว่า “ทหาร”) มาแล้วรวมถึง 13 ครั้ง (วงการการเมืองไทยถือว่าการยึดอำนาจจากกษัตริย์เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ของ “คณะราษฎร” เป็นการ “ปฏิวัติ” /และการพยายามยึดอำนาจ (โดยทหารและพลเรือนบางกลุ่ม)อีก 11 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เรียกว่า “กบฏ”)

เมื่อยึดอำนาจได้สำเร็จสิ่งแรกที่องค์ “รัฏฐาธิปัตย์” (คือกลุ่มผู้ยึดอำนาจได้สำเร็จ) จะทำก็คือการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังใช้อยู่(ก่อนมีการรัฐประหาร)!

จากนั้นจึงค่อยๆดำเนินการให้มี “กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ” ในรูปแบบต่างๆตามมา จนที่สุดก็จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “ฉบับใหม่” ดังกล่าว

ส่วนกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญในสังคมไทยนั้น มีผู้ศึกษาและเขียนถึงไว้ไม่น้อย ใครที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ย่อมสามารถไปหาศึกษาเรียนรู้กันได้จากเอกสารต่างๆที่มีอยู่มากมายหลายแหล่ง อย่างน้อยก็ในระบบอินเทอร์เน็ตหรือ “ออนไลน์” สมัยใหม่

ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้สักนิด เพื่อให้ร่วมสมัยกับสถานการณที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้ (การเตรียมตัวเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน และ พรรคฝ่ายค้าน “ก้าวไกล”) คือเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) ซึ่งเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับที่อาจถือกันได้ว่า “ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง” (อยู่บ้าง)

เท่าที่พอจะมีความรู้ ทราบว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เคยมีมาเพียง 4 ชุด (ในรอบ 90 ปี) ทั้ง 4 ชุดดังกล่าวก็มีที่มาของสมาชิกสภาฯที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ที่มาจากการจัดการเลือกตั้งโดยรัฐสภา โดยตรงมีเพียง 2 ชุด คือชุดปีพ.ศ. 2491 และ พ.ศ. 2539 ส่วนอีก 2 ชุด สมาชิกฯ มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ คือชุด พ.ศ. 2502 และ ชุด พ.ศ. 2550

ส่วนรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่บางพรรคการเมืองกำลังจ้องเขม็งด้วยสายตาแบบ “ผู้รักประชาธิปไตยของแท้” ที่จะ “ต้องแก้ไขทั้งฉบับ” ให้ได้  ด้วยข้อหา “เป็นมรดกบาปของเผด็จการ” อยู่นั้น มีที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์นาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ”(คสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา โดยหลังจากยึดอำนาจได้สำเร็จในปี พ.ศ.2557 ก็ได้จัดตั้ง “สภาปฏิรูปฯ” ขึ้น คณะหนึ่ง

และสภานี้เองที่ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นขุดหนึ่ง มีกรรมการทั้งสิ้นรวม 36 คน  โดยมีศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ อาจารย์อาวุโสทางด้ากฏหมายชาวสงขลา จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นประธาน

ยกร่างเสร็จก็นำเสนอให้คณะกรรมการสภาปฏิรูปฯอภิปรายผลและพิจารณลงมติ ปรากฏว่าแพ้มติ คือมีสมาชิกสภาให้ผ่านเพียง 105 เสียง อีก 135 เสียง ไม่ยอมให้ผ่าน ร่างฉบับนี้จึงตกไป!

คสช.จึงแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกชุดขึ้นใหม่ คราวนี้มีกรรมการ 20 คน มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ “มือร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นประธาน  ยกร่างเสร็จ เที่ยวนี้ “เล่นใหญ่” คือมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ(กกต.)จัดการให้ประชาชนชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงประชามติ ปรากฏผลว่า “ผ่านฉลุย” ผู้มาลงคะแนนเสียงลงมติ “รับ” สูงถึงร้อยละ 61.35 หรือนับเป็น “เสียง” ได้ทั้งสิ้น 16,820,402 เสียง!

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายท่านบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เหมือนมีเจตนาออกมาเพื่อ “ปราบ” พวกชอบแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ เพราะได้วางเงื่อนไขการแก้ไว้ค่อนข้างมาก ต้องผ่านประชามติและด่านอะไรที่ยากๆอีกหลายด่าน ที่สำคัญคือ กว่าจะแก้ได้จำเป็นต้องใช้เงินภาษีชาวบ้านเป็นจำนวนมากในการดำเนินงาน

เท่าที่ฟังๆมา ทั้งจากกต.โดยตรงและจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย บอกตรงกันว่า อย่างน้อยต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านทีเดียว! นี่ยังไม่นับงบประมาณตอนที่จะต้องใช้เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเลยหนา! ตอนนั้นก็ต้องใช้อีกเป็นหลายพันล้าน!

เอตทัคคะด้านการเมืองไทยหลายคนจึงบอกตรงกันว่า การพยายามแก้รัฐธรรมนูญหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยการต้องทำประชามติ ที่กำลังกระดี้กระด้าจะเริ่มดำเนินการกันอยู่(ทั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล)นอกจากจะเป็นการดูถูกและ “ตบหน้า” ประชาชนผู้เคยมาลงคะแนนเสียงรับรองรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งเกือบ 17 ล้านเสียงแล้ว ยังเป็นการผลาญเงินภาษีประชาชนอย่างไม่จำเป็น ในช่วงยามที่นักการเมืองเองก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่า “ประเทศกำลังมีวิกฤติเศรษฐกิจ” !

เพราะสิ่งที่บรรดานักการเมืองฝ่ายที่เรียกตัวเองเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” (ตั้งตัวเอง)เคยใช้เป็นข้ออ้างในการรังเกียจรัฐธรรมนูญปี 2560 นักหนา คือประเด็น “อำนาจของวุฒิสมาชิก” (ทั้งที่มีการจากการเลือกตั้งตรงและเลือกทางอ้อม)นั้นก็จะจบลงแล้ว คือสว.จะหมดวาระลงตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ในเดือนมพฤษภาคม 2567 ที่จะถึงคือในเวลาอีกประมาณ6 เดือนข้างหน้านี้เอง!

ชาวบ้านธรรมดาๆจำนวนไม่น้อยที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่คุ้นชินกับรัฐธรรมนูญฉบับที่กล่าวกันว่า “ดีเลิศ”มาหลายฉบับ ทั้งฉบับพ.ศ. 2517 และ ฉบับ พ.ศ. 2540 ล้วนวิจารณ์ตรงกันว่า นักการเมืองไทยที่เข้ามาใช้อำนาจหลังมีรัฐธรรมนูญนั้นๆ ไม่เคยสนใจใน “เจตนารมณ์” ที่แท้ของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเหล่านั้นเลย พวกเขาล้วนใช้มันเพียงเพื่อให้สอดรับกับ “ความต้องการเชิงอำนาจและผลประโยชน์” ของพวกเขาเท่านั้น 

ดังนั้น ต่อให้ร่างกันแบบเลอเลิศขนาดไหน หรือจะเปลี่ยนอีกสักกี่ฉบับ ผลลัพธ์ก็น่าจะยังเหมือนเดิม ถ้าคุณภาพการเมืองไทยยังคงเป็นอยู่แบบเห็นๆในรอบ 90 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องคุณภาพของพรรคการเมือง นักการเมือง และ คุณภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง !

ชาวบ้านที่รู้ทันเขาสรุปกันว่า ควรเอาเงินงบประมาณเป็นหมื่นๆล้านที่จะต้องละลายไปกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ไร้ประโยชน์อะไรนั่น ไปใช้กับโครงการที่มีประโยชน์ ที่จับต้องได้จริง เช่น สนับสนุนโครงการเกี่ยวกับคุณภาพของแม่และเด็ก ของคนชรา หรือ ของระบบการศึกษาเด็กไทย ที่ฟังว่าตอนนี้ล้าหลังกว่าใครๆในเอเซียเขาไปหลายร้อยลี้แล้วนั่นจะดีกว่าละมั้ง!!!