ในช่วงที่ผ่านมามีข้อถกเถียงกันเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยจีดีพีขยายตัว 1.5% ว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่า “วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ” เพื่อชี้นำกระแสสังคมให้คล้อยตามไปในทิศทางสนับสนุนและคัดค้านต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต

ประชาชนอย่างเราๆท่านๆก็อาจจะวิตกกังวลว่า แท้จริงแล้วเศรษฐกิจไทยเราอยู่ในสภาวะใดกันแน่ กระนั้น หากเศรษฐกิจวิกฤติจริง แล้วเราจะรับมืออย่างไร นอกจากจะนั่งรอเงินดิจิทัล

รศ.ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ล่วงลับ ได้เขียนบทความแนะนำเอาไว้ ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว สมเกียรติ โอสถสภา เรื่อง “เศรษฐกิจโลกขาลง เตรียมรับมือ”

มีเนื้อหาแนะนำแนวปฏิบัติที่เข้าใจง่ายๆเอาไว้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ จึงขออนุญาตยกมามาเผยแพร่ ดังนี้

“ชาวอเมริกันจำนวนมากที่มีตังค์เตรียมรับวิกฤติ ร่วม 10 ปี หนังสือ แนว How to survive ในช่วง crisis ขายดีติดอันดับ New York Times Best Seller เป็นสิบปี  คำแนะนำ

หนึ่ง ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ช่วงนี้อ่านหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจเข้าไว้ มันจะโยงมาถืงคุณในเรื่องงาน รายได้ กำลังซื้อของคน การเบี้ยวหนี้ บริษัทอื่นล้มมาโยงของคุณไปด้วย สอง คุยกับคนในครอบครัวถึงสถานการณ์ให้ช่วยกันวางแผนเตรียมรับมือ สาม ลดหนี้ให้อยู่ในระดับที่คุณจะบริหารได้ อย่าให้ปริ่มน้ำ ความเสี่ยงสูง อย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น บริษัทไทยไม่ควรกู้เป็นเงินนอกเด็ดขาด เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อน ตอนนี้เข้าช้อร์ทเงินของ Emerging Markets กันใหญ่

สี่ รักษาสภาพคล่องไว้ให้ดี เพราะจะหาเงินกู้ เงินโอดีลำบาก ตอนนี้การกู้แบงค์ปล่อยกู้ยากขึ้น ห้า ศึกษาสถานะการเงินของสถาบันการเงินที่คุณฝากเงินไว่้อย่างใกล้ชิด ถ้าที่ใดไม่มีการตั้งสำรอง หรือมีข่าวทุจริต ไม่ชอบมาพากล ขอให้ระวัง หก วางแผนการเงินร่วมกับครอบครัว มีแนวโน้มว่าค่าเงินจะอ่อนทำให้ของแพง เช่นสินค้านำเข้าประเภทน้ำมัน อะไหล่รถยนต์ เครื่องจักร วัตถุดิบ กระทั่งร้านอาหารญี่ปุ่น เมื่อของแพงคุณต้องใช้เงินมากขื้นแน่นอน จะลามมาถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ดอกเบี้ยเงินกู้ วางแผนยาว5 ปี

เจ็ด ระวังการให้เครดิตระยะยาว เครดิตการค้า ความเสี่ยงสูงมาก แปด ศึกษาความมั่นคงของรายได้ งาน ของทุกคนในครอบครัว เพราะจะมีการลดคนในสาขาที่หดตัว เก้า ตลาดหุ้นขาลงมีความผันผวนและความเสี่ยงสูงมาก จะมีการลด PE กำไรจะหดตัวเป็นส่วนใหญ่ สิบ อย่าหวังพึงรัฐบาลมาก เพราะจะเก็บภาษีได้ไม่มาก ของไทยรายได้เพิ่มจากภาษีน้ำมันนำเข้า ราคาแพงขึ้น เก็บภาษีเป็นเปอร์เซ็นต์ได้มากขึ้น สิบเอ็ด ทุกธุรกิจมี cycle เช่นรถยนต์ราว 7 ปี บริหารการเงินให้แมทช์กับ cycle ธุรกิจ ศึกษาcycle ของธุรกิจที่เกี่ยวข้อบให้ชัดเจน สิบสอง ถ้าคุณมีหนี้มาก เตรียมทางหนีทีไล่ทางกฏหมายให้ดี อาจขอให้หน่วยงานมาให้ความรู้ด้านนี้

สิบสาม อาชญากรรม การชิงทรัพย์ ยาเสพติดจะเพิ่ม ระวังลูกหลานโดยเฉพาะคนมีฐานะดี อันตรายมาก อย่าใช้ของแพงจะตกเป็นเป้าและเหยื่อ สิบสี่ หาวิธีลดรายจ่ายให้ได้ 30% สิบห้า ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย นอกเมือง มีสาธารณูปโภคพร้อม ราคาถูกกว่า

อันนี้เป็นคำแนะนำตามตำราครับ เศรษฐกิจมีขาขึ้นขาลง เป็นธรรมชาติ”

( 29 กรกฎาคม 2565 เผยแพร่ในเว็บไซต์สยามรัฐ https://siamrath.co.th/n/369214)