เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

 

หลายสิบปีก่อน ศาสตราจารย์ ดร. สุนทร บุญญาธิการ ไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกที่สหรัฐอเมริกา แล้วสอนที่นั่นรวมแวลา 20 ปีก่อนจะกลับมาเมืองไทย และเป็นคณบดีคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

ท่านสอนฝรั่งเรื่อง “เรือนไทย” ไม่ได้เพียงอธิบายว่า มีระบบโครงสร้างแบบไหน แต่บอกว่า “ทำไม” จีงยกสูง (หนีน้ำท่วม ความชื้น พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม) มีประตูหน้าต่างเปิดโล่ง (ให้ลมผ่าน) มีช่องลมเจาะไว้ด้วยลวดลายเหนือประตูหน้าต่าง (กลางคืนปิดประตูหน้าต่างลมก็ผ่าน) หลังคาสูงไม่มีฝ้า (ลมร้อนลอยขึ้นไป ระบายออก บ้านเย็นสบาย ไม่อับชื้น ไม่เก็บเชื้อโรคเชื้อราที่ทำให้คนในบ้านเจ็บป่วย)

ท่านสร้างบ้านตัวเองที่กรุงเทพฯ ทรงสมัยใหม่ โดยประยุกต์ภูมิปัญญาการระบายอากาศของเรือนไทย ทั้งภายนอกภายในบ้าน ประหยัดแอร์ได้มากกว่าครึ่ง เป็นบ้านประหยัดพลังงาน

ไม่กี่สิบปีก่อน คุณยงยุทธ ตรีนุชกร ได้นำชาวบ้านบัว ที่ตั้งของเครือข่ายอินแปง ที่อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ทำการวิจัยว่า เมื่อ 30-40 ปีก่อนนั้น พ่อแม่ปู่ย่าตายายไปหากินที่ไหน ในน้ำ ในนา ในป่า ในทุ่ง ได้อะไรมาทำอาหารอะไร ทำอย่างไร สัมพันธ์กับฤดูกาล การเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร เพื่อป้องกันและรักษาโรคอะไร

เขาไม่ได้วิจัยเพียงให้รู้ว่า คนในอดีตปรุงอาหารอะไร อร่อยไหม แต่ดูว่า ทำไมคนโบราณจึงกินอาหารเป็นยา ไม่ใช่กินยาเป็นอาหารอย่างคนปัจจุบัน ข้าวก็มีหลากหลายสายพันธุ์ ซ้อมมือ มีสารอาหารสูง

ในเวลาเดียวกัน ก็พากันวิจัยว่า ทำไมคนสกลนครสมัยก่อนชอบใส่เสื้อผ้าย้อมคราม ปลูกครามไปทั่ว ก็พบโดยอาศัยวิทยาศาสตร์ช่วยให้รู้ว่า ผ้าย้อมครามนั้น ใส่หน้าหนาวก็อุ่น หน้าร้อนก็เย็น ป้องกันแสงยูวีได้ ใส่เสื้อย้อมครามแขนยาวไปทำไร่ ทำนา กลับมาบ้านตอนเย็น ผิวยังขาวยังสวยอยู่เลย เป็น “ผ้านาโน” กินแบคทีเรีย ใส่สองสามวัน แค่สะบัดสองทีก็ใส่ได้ไม่ต้องซัก

หลายปีก่อน ผมได้รับเชิญไปสอน “ภูมิปัญญามวยไทย” ในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้พูดเรื่อง “การถอดรหัสภูมิปัญญามวยไทย” เรื่อง “ครูมวย” ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวบุคคล แต่หมายรวมไปถึงจิตวิญญาณของมวยไทย ที่สอนให้คนเรียนมวยไทยไม่ใช่เพื่อไปทำร้ายใคร แต่เป็นศิลปะป้องกันตัว ช่วยเหลือ ป้องกันคนที่อ่อนแอ สอนให้มีคุณธรรม ความอดทน อ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ จิตอาสาเพื่อส่วนรวม

ผมได้นำวิดิโอเรื่องการฝึกเด็กที่วัดเส้าหลินของจีนมาฉายให้ดูว่า พระที่นั่นสอนเยาวชนให้ “เป็นมวย” อย่างไร ฝึกฝนให้เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ มีทักษะการต่อสู้และคุณธรรมอย่างแยกกันมิได้

มวยไทยจึงสามารถประยุกต์เพื่อการฝึกฝนร่างกายให้มีสุขภาพดี อย่างที่เห็นการเปิดยิมทั่วไปให้ทุกเพศทุกวัยมาเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อเป็นศิลปะป้องกันตัว เพื่อสุขภาพ ประยุกต์เป็นการเต้นแอโรบิก เป็นนาฏมวยไทย

ยกตัวอย่างมาให้เห็นว่า ไทยเราอุดมด้วยภูมิปัญญามากมายที่เราสามารถเรียนรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน แต่ต้องทำการ “ถอดรหัส” ให้ได้ สืบค้นไปให้ถึงรากเหง้า

ภูมิปัญญามีการพัฒนาและส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ถ้ามองอย่างผิวเผินคนมักจะดูถูก ด่วนสรุปแบบไม่ต้องตีความ เพราะ “เห็นๆ อยู่” เป็น “ของตาย” ไม่ต้องคิดมาก

การตีความ คือ การถอดรหัสเหมือนการถอดสมการคณิตศาสตร์ หรือสูตรฟิสิกส์ คือการค้นหาลึกลงไปว่า แก่นแท้ของสิ่งที่ปรากฏนั้นคืออะไร มีคุณค่าและความหมายอะไร

การถอดรหัส คือ การวิเคราะห์ตีความให้ถึงแก่นของภูมิปัญญา โดยต้องสลัดตัวตนคนมองโลกมองชีวิตแบบวันนี้ แล้วหาทางเข้าไปยืนอยู่ในจุดเดียวกับที่คนเก่าแก่โบราณเขายืนกัน จะได้มองเห็นอะไรอย่างที่พวกเขามอง แล้วค่อยเอามาประยุกต์ให้สมสมัย ตอบสนองรสนิยมคนวันนี้แบบมีรากเหง้า

คำถามที่ควรจะถามในการถอดรหัสหรือตีความ คือ “ทำไม” มากกว่า “อะไร” เช่น การถอดรหัสบ้านทรงไทย ไม่ใช่เพียงให้รู้รูปร่างลักษณะ องค์ประกอบ แต่ต้องหาคำตอบว่า ทำไมคนโบราณจึงสร้างเช่นนั้น

อาหารไทยแต่ละอย่างมีประวัติ มีที่มา มีคำอธิบายว่า ทำไมจึงปรุงเช่นนั้น คำตอบที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต กับการดูแลสุขภาพของชุมชน

การถอดรหัสต้องการเครื่องมือบางอย่าง คือ หลักคิดที่เป็นนามธรรม เป็นคอนเซปต์ หรือกรอบคิด อย่าง “เวลา ที่ ผี ขวัญ” ถ้าเข้าใจ 4 อย่างนี้จะเข้าใจวัฒนธรรมไทย

แนวคิดที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ “อุ้ม” วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาของสังคมไทย มีลักษณะที่แตกต่างจากที่อื่น เวลาของคนไทยเป็น “วงกลม” ที่หมุนเวียนกลับมาทุกปี 12 เดือนเป็น 1 ปี 12 ปีเป็น 1 รอบ ตายแล้วก็เกิดใหม่  เวลาของตะวันตกเป็นเส้นตรง มีเริ่มต้น มีบั้นปลาย มีสร้างโลก มีสิ้นโลก

คนไทยทำอะไรต้องให้ “ถูกที่ถูกทาง” ต้องดูที่ว่าเหมาะสมปลูกบ้านหรือทำมาหากิน ต้องลงเสาเอกเพื่อให้เชื่อกับจุดศูนย์กลางของแผ่นดิน ของจักรวาล จะได้สมดุลและอยู่เย็นเป็นสุข

คนไทยเชื่อเรื่องผีมาก่อนที่ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธจะเข้ามา และยังมีอิทธิพลอยู่จนถึงทุกวันนี้ ผีคือจิตวิญญาณของสรรพสิ่ง เป็นกฎ ระเบียบ วินัยให้คนปฏิบัติ ผิดผีก็ต้องเสียผี ขอขมา  ขวัญ คือ จิตวิญญาณของครอบครัว ชุมชน ของจักรวาล ที่เชื่อมโยงผู้คนข้าด้วยกัน  

ถอดรหัสเรื่องเหล่านี้ให้ดี นำมาประยุกต์ คนไทยอาจมีวินัยดี มีคุณธรรมมากกว่านี้ ไม่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ยกพวกตีกัน ฆ่ากัน อย่างที่เห็นเป็นข่าวทุกวัน

วันนี้สังคมมองทุกอย่างเป็น “ธุรกิจ” ไปหมด ไม่ว่าเรื่องปัจจัย 4 รวมไปถึง “มวยไทย” ที่กลายเป็นธุรกิจ การพนัน ผลประโยชน์  สังคมที่มองเห็นแต่ “มูลค่า” ไม่เห็น “คุณค่า” ย่อมมองภูมิปัญญาอย่างผิวเผิน

การถอดรหัสภูมิปัญญา คือการค้นหาอัตลักษณ์ในรากเหง้า ที่ไม่ได้มีอยู่แบบแยกส่วน แต่สัมพันธ์และเสริมกันเป็นคลัสเตอร์ที่มีเสน่ห์และมีพลังให้คนใกล้ได้ค้นหา คนไกลได้มาเยือน