หนึ่งในโครงการที่ผลิดอกออกผลของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  ที่น่าจับตาว่ารัฐบาลเศรษฐา  ทวีสิน จะต่อยอดขับเคลื่อนให้มีความแข็งแกร่ง ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2566 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานได้พิจารณาเห็นชอบ 3 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ ร่าง แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 – 2570 มีแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน ตั้งเป้าหมายให้เกิดจำนวนเงินการลงทุนจริงในพื้นที่ ระหว่างปี 2566 - 2570 เพิ่มขึ้น รวม 500,000 ล้านบาท (เฉลี่ย 100,000 ล้านบาทต่อปี) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่ อีอีซี (GPCP EEC) ขยายตัวร้อยละ 6.3 ประชาชนมีรายได้ และคุณภาพชีวิตดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป็นเป้าหมายการเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยของประชากรและนักลงทุนทั่วโลก

เรื่องต่อมาคือ การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (EEC Visa) โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาลงทุนในพื้นที่อีอีซี สามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาภายใต้ EEC Visa ประกอบด้วย 1) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประเภท Specialist : EEC Visa “S” 2) ผู้บริหาร ประเภท Executive : EEC Visa “E” 3) ผู้ชำนาญการ ประเภท Professional : EEC Visa “P” และ 4) คู่สมรสและผู้ติดตาม ประเภท Other : EEC Visa “O” โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญๆ ได้แก่ ได้รับ EEC Work permit อัตโนมัติ เสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ณ อัตราคงที่ 17% อายุ VISA สูงสุด 10 ปี ตามระยะเวลาตามสัญญาจ้าง ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สามารถรายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast track) ณ สนามบินนานาชาติทั่วประเทศไทย โดยเริ่มขอรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

และเรื่องสุดท้ายคือ แนวทางการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยอยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศ กพอ. เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการกิจการ มี 5 หลักการที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการภาครัฐ การเจรจาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ การบูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงาน และการติดตามตรวจสอบ ทั้งนี้ ในการเจรจาสิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบกิจการ คณะกรรมการจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ แผนการลงทุน รวมถึงระยะเวลาเริ่มการลงทุนหรือประกอบกิจการ ความสำคัญของกิจการต่อ Supply chain และ Value chain มูลค่าเงินลงทุนที่ใช้ในการประกอบกิจการ การใช้ทรัพยากรในประเทศ ระดับเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการ การถ่ายทอดความรู้ และการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ

เราคาดหวังว่าระดับนโยบายจะขับเคลื่อนเดินหน้าโครงการอย่างจริงจังและนำพาเศรษฐกิจไทยสู้กระแสขาลงเศรษฐกิจโลก สร้างโอกาส สร้างงานและรายได้ให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ