ผลสำรวจของ Meta, Bain & Company และ DSG Consumer Partners คาดการณ์ว่า ไทยเป็นหนึ่งใน3ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะมีกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียว หรือคนโสดเพิ่มขึ้น 20 % ภายในปี 2573 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานสภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น ทำให้ Solo economy เติบโต อย่างมากทั่วโลก และส่งผลให้ธุรกิจในประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับตัว เนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกลุ่ม นี้ มีมูลค่าสูงกว่าคนกลุ่มอื่น

สำหรับประเทศไทย จำนวนครัวเรือนคนเดียวในปี 2565 มีจำนวนกว่า 7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.1 ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 16.4 ในปี 2555 ซึ่ง Euromonitor ระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวสูง ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก

รายงานระบุว่า เมื่อพิจารณาธุรกิจในไทย พบว่า ยังไม่ค่อยปรับตัวเพื่อตอบรับกับคนกลุ่มนี้ มากนัก มีเพียงการส่งเสริมในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหารที่รองรับลูกค้าที่มาคนเดียวเท่านั้น ขณะที่ ครัวเรือนกลุ่มนี้ยังมีพฤติกรรมที่อาจสร้างประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในหลายด้าน

อย่างไรก็ตาม การมีครัวเรือนคนเดียวเป็นจำนวนมากไม่เพียงส่งผลดีและเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังอาจ สร้างปัญหาอื่นให้กับสังคมได้มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก 1 ใน 3 ของครัวเรือนคนเดียวเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกัน ในปี 2564 ครัวเรือนคนเดียวกว่าร้อยละ 16.6 มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ สภาพแวดล้อม ในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนเดียวมากนัก โดยเฉพาะปัญหาด้านความปลอดภัย

ดังนั้น  รายงานของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า หากไทยจะยกระดับ Solo Economy ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ

1) การเสริมสร้างทักษะทางการเงิน และการเข้าถึงหลักประกันรายได้หลังเกษียณตั้งแต่ในวัยแรงงาน

2) การช่วยเหลือ ครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง รวมทั้งส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม ควบคู่กับการปรับภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สาธารณะประโยชน์

3) การยกระดับความปลอดภัยทางสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนเดียว

และ 4) การส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับพฤติกรรมของครัวเรือนคนเดียว

เราเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากแต่ยังมีประเด็นที่ผู้เขียนห่วงใย ในการเรื่องของการส่งเสริมกิจกรรม สร้างความเข้าใจในการรู้เท่าทันเทคโนโลยี ที่ AI เข้ามามีบทบาทสูง อาชญากรรมออนไลน์และการหลอกลวง  และสร้างนวัตกรรมในการป้องกัน จะช่วยสร้างสังคมที่ปลอดภัย ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและโอกาสทางเศรษฐกิจ