มีความห่วงใยจากสภาหอการค้าไทย ต่อสถานการณ์ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง สวนทางกับต้นทุนธุรกิจ ที่สูง ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าพลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบ โดยเห็นว่ารัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

อีกทั้งจากการหารือร่วมกันระหว่างหอการค้าไทย กับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความกังวลในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.ผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของพ่อค้าคนกลาง หรือ ผู้รับเหมาช่วง (Sub contract) ที่ช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจยืดเวลาการจ่ายเงินให้รายกลางที่มีความสามารถบริหารสภาพคล่องไม่เท่ากัน และเมื่อถึงจุดที่สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหาอาจจะกระทบซัพพลายเชนทั้งระบบ และ 2.ปัญหาหนี้จากสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้งหนี้เสียและหนี้กำลังจะเสียเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนนี้หากคิดจะใช้การปรับโครงสร้างหนี้ก็เป็นไปได้ยาก

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีลูกหนี้ธุรกิจ ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) พบว่า การฟื้นตัวของธุรกิจขนาดจิ๋ว (กลุ่ม Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างระหว่าง 5-20 ล้านบาท และกลุ่ม Super Micro ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 5 ล้านบาท) ยังคงไม่ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบมายังความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ค้างชำระที่ยังคงมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในมิติของกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และในมิติของกลุ่มที่ใกล้จะเป็นหนี้เสีย (ค้างชำระระหว่าง 61-90 วัน)

ทั้งนี้ หนี้ของธุรกิจขนาดจิ๋วส่วนใหญ่เป็นหนี้จากสินเชื่อระยะยาว ทั้งที่เป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ และสินเชื่อทั่วไป (Commercial loan/ General loan) รวมถึงสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ สะท้อนว่าธุรกิจขนาดจิ๋วไม่สามารถสร้างรายได้เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จะทยอยสิ้นสุดลง แต่การช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยังคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องของสถาบันการเงิน ซึ่งก็จะเป็นการดำเนินการในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวนโยบายในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สำหรับบริษัทขนาดจิ๋วที่อยู่ในธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า อุตสาหกรรมการผลิต และขายส่ง-ขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า  แม้ธุรกิจขนาดจิ๋วในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อย่างที่พักแรม และร้านอาหาร จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากกว่า เพราะได้รับอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ยังคงตอกย้ำว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ยังคงไม่เท่าทันกัน

อย่างไรก็ตาม เราเห็นด้วย ที่การแก้ไขปัญหา SMEs จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องเร่งช่วยเหลือเพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเป็นระบบ แก้ไขปัญหาหนี้สิน หาช่องทางจำหน่ายสินค้าและบริการ อำนวยความสะดวกพัฒนาระบบและทักษะอย่างจริงจัง