สถาพร ศรีสัจจัง

“รุ่ง  ดอนทราย” คือใคร?

ถ้าตั้งคำถามนี้ขึ้นที่เมืองพัทลุงเมื่อสักประมาณช่วงปลายๆทศวรรษ 2450 จนถึงช่วงประมาณปี พ.ศ.2562 (ช่วงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)นาม “รุ่ง ดอนทราย” อาจเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางพอควร โดยเฉพาะในพื้นที่แถบเขตแดนต่อแดนระหว่างอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงและอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช (ในปัจจุบัน)

ยามนั้น “รุ่ง ดอนทราย” อาจเป็นที่รู้จักใน 2 ฐานะ กล่าวคือ :

ในฐานะของทางราชการ เขาเป็น “นักโทษคดีอุกฉกรรจ์” (เหมือนกับ “แป้ง นาโหนด”!) ที่ “แหกคุก” ของบ้านเมือง หนีมาจากเรือนจำประจำมณฑลนครศรีธรรมราช(เหมือนกับ “แป้ง นาโหนด”!) แล้วมาก่อตั้ง “ชุมโจร” ขนาดใหญ่ (ที่ฟังจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งแบบที่ข้อมูลตรงกันมาว่า มีสมาชิกในช่วงที่ชุมโจร “ดังสุดขีด” นับได้เป็นจำนวนกว่าร้อยคน) “ขึ้นในพื้นที่ ตำบลดอนทราย” ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของเขานั่นเอง

แต่ในฐานะของชาวบ้าน ฟังจากปากคำที่เป็นตำนานขานเล่าและที่มีผู้ศึกษาแล้วเขียนบันทึก ไว้เป็นลายลักษณ์ สรุปได้ว่า “รุ่ง ดอนทราย” นั้นถูกมองให้มีฐานะเป็น “ผู้คุ้มครอง” และ เป็น “คนจริง” ที่มีสัจจะ คือ “คำไหนคำนั้น”!

เพราะ(ฟังว่าอีกนั่นแหละ) เขาและะชาวชุมโจรของเขาไม่ใช่ “โจรร้าย” แบบที่ทางราชการเรียกแต่เป็น “โจรที่มีหลักการและยึดมั่นในสัจจะ” จนเป็นที่รู้กันและเป็นที่เชื่อถือของคนในพื้นที่

อาจารย์ประมวล  มณีโรจน์ นักเขียนและนักวิชาการลือนาม พี่เอื้อยใหญ่ของนักเขียน “กลุ่มนาคร” (เป็นชาวสงขลาโดยกำเนิดแต่ปัจจุบันตั้งรกรากอยูที่อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง) เคยศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ “บัญญัติเหล็ก” ซึ่งเป็นข้อยึดถือปฏิบัตืหรือ “วินัย” ของชาว “ชุมโจรรุ่ง ดอนทราย” แห่งนี้ แล้วบันทึกสรุปไว้ว่า…

“…ห้าม ทำร้ายเจ้าทรัพย์ที่ไม่คิดต่อสู้-หนึ่ง ห้าม ไม่ให้ทำร้าย ฆ่าผู้หญิงและเด็ก-หนึ่ง บ้านเรือนใดที่เคยให้ที่พักพิง หลบแดดหลบฝน นอกจากจะละเว้นไม่ประพฤติเนรคุณแล้ว ยังต้องให้ความคุ้มครองป้องกันอีกด้วย-หนึ่ง และ ห้ามถือเอาทรัพย์สินซึ่งติดอยู่ที่ตัวเจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาด(อีกหนึ่ง)…”

เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตเบื้องต้นที่ทำให้ต้องกลายมาเป็น “ขุนโจร” ของ “รุ่ง ดอนทราย” นั้น ก็คงคล้ายๆกับ “เรื่องเล่าชาวบ้าน” ในดินแดนที่คติ “ไม่รบ” นาย “ไม่หายจน” อย่างเมืองพัทลุงที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางทั่วๆไปนั่นแหละ 

คือ เกิดจากความคับแค้นใจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก “รัฐ” และสังคม! (คล้ายกับกรณีของ “แป้ง นาโหนด” อีกประเด็นหรือเปล่า?)

หลังจากต้องกลายเป็น “ผู้ร้ายที่ทางการต้องการตัว” ด้วยเหตุดังว่าบางประการแล้ว คนจริง คนกว้างขวาง คนเพื่อนมาก ฯลฯอย่าง “รุ่ง ดอนทราย” ก็ต้องคับแต้นใจหนักขึ้นอีก เมื่อถูก “เพื่อนรัก” ทรยศหักหลัง ร่วมมือกับทางการเพื่ออามิสสินจ้าง ร่วมกันวางแผนจับตัวเขาอย่างสามานย์น่าละอาย

เรื่องนี้ ทั้งอาจารย์ล้อม  เพ็งแก้ว ลูกควนขนุนเมืองพัทลุงขนานแท้ ผู้ไปเป็น “ปราชญ์” อยู่ที่เมืองเพชรบุรี กับอาจารย์ประมวล มณีโรจน์ เล่าไว้ตรงกันว่า เกิดจากนโยบายของ “รัฐ” ในช่วงยามนั้น ที่ใช้นโยบาย “ใช้โจรปราบโจร” และด้วยการ “ติดสินบน” สมาชิกกลุ่มโจรด้วยกันให้ “หักหลังเพื่อนมิตร” ที่เคยร่วมยากลำบากพึ่งพิงกันมา 

กรณีของ “รุ่ง ดอนทราย” นั้น อาจารย์ประมวล  มณีโรจน์ เขียนเล่าไว้อย่างค่อนข้างละเอียด (ตรงกับที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เล่าไว้ใน “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้”) ในบทความขนาดยาว เต็มไปด้วยรายละเอียด ที่ชื่อ “โจรพัทลุง กรณีตำนานโจรแห่งตำบลดอนทรายฯ” มีความประมาณว่า :

“…แล้วแผนการกำจัดผู้นำชุมชนผู้แข็งกร้าวก็เริ่มขึ้น…เมื่อขุนสถลสถานพิทักษ์ นายอำเภอ ทะเลน้อยขณะนั้น(คืออำเภอควนขนุนปัจจุบัน ผู้เขียน)ได้ติดต่อวางแผนกับกำนันสี สงคราม โดยการติดสินบน…ให้จับกุมเพื่อน…” (คือ “รุ่ง ดอนทราย” ผู้เขียน)

แล้วอาจารย์ประมวลก็เล่าถึงตอนสำคัญว่า

“…ผู้ใหญ่อินบ้านโคกวา เพื่อนสนิทผู้เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เสมอกับรุ่ง ดอนทราย …ตกลงรับแผนชั่วร้ายจากกำนันสีสงคราม นัดให้ขุนโจรมารับข้าวห่อในสวนใกล้บ้าน แล้วเพื่อนทรยศกับพรรคพวกซึ่งตัวใหญ่โตล่ำสันอีกสามคน ช่วยกันใช้ขวานตีหัวและมัดตัวรุ่ง ดอนทราย…ก่อนที่จะถูกยัดเยียดข้อหาปล้นทรัพย์ และส่งตัวไปจองจำไว้ ณ เรือนจำเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะขุนโจรพัทลุง…” (บรรยากาศเรื่องการ “หักหลัง” คล้ายๆกับกรณีของ “แป้ง นาโหนด” บ้างหรือเปล่า?)

แล้ว “แค้นฝังหุ่น” จึงเกิดขึ้นในหัวใจของ “คนจริง” นาม “รุ่ง ดอนทราย”!  แผนการแหกคุกเพื่อออกไปฆ่า “เพื่อนทรยศ” ก็เกิดขึ้น ดังที่อาจารย์ประมวลเขียนสรุปถึงตอนนี้ไว้ว่า :

“เมื่อต้องฆ่านักโทษในเรือนจำ ทั้งยังชวนสังข์ ท่าพญา เพื่อนคนโทษหนีออกมาด้วยกัน และหลังจากคุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นฆ่ากำนันสีสงคราม  ประกาศถึงวิญญาณอันไม่ยอมจำนนแล้ว รุ่ง ดอนทรายและพวก ก็กลายเป็น “คนผิด” ตามมาตรฐานแห่งกฎหมายบ้านเมืองไปอย่างเต็มรูปแบบ”

นี่เอง คือที่มาของการต้องกลายเป็น “ขุนโจรใหญ่” ของหัวหน้าชุมโจรแห่งตำบลดอนทราย เมืองพัทลุง (ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ผู้กล้าประกาศห้ามชาวบ้านในเขตอิทธิพลจ่ายค่ารัชชูปการรวมถึงภาษีในรูปแบบต่างๆแก่ “รัฐ” และห้ามติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการบ้านเมือง โดยเฉพาะตำรวจ ของ “รุ่ง ดอนทราย” ของชาวบ้าน หรือ “ขุนพัท”ในชื่อเรียกขานของสมาชิกชุมโจรแห่งตำบลดอนทรายในยุคนั้น!!!!