ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

“ผมเขียนถึงวงการมหาดไทย เขาว่าผมเขย่าเขา พวกที่มีเรื่องพ้องพานกับนายอำเภอปฏิวัตินี่ เขาเวียนหนังสือกันทั่วประเทศเลย  หลัง 6 ตุลาคมก็ไปค้นบ้านตั้งหลายระลอก จะเอาผมตายทั้งนั้น”

เป็นคำพูดเปิดอกของ บุญโชค เจียมวิริยะ ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “นายอำเภอปฏิวัติ” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารฟ้าเมืองไทยของบรรณาธิการรุ่นครู-อาจินต์  ปัญจพรรค์ เมื่อปี 2518 เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านสูงและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  ยิ่งกว่านั้นก็คือ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการมหาดไทย เพราะเป็นนวนิยายที่กล้าแหวะอกมหาดไทย  จนพากันร้อนรน ก้นนั่งไม่ติดเก้าอี้ 

นวนิยายเรื่อง “นายอำเภอปฏิวัติ” จบบทสุดท้ายในฟ้าเมืองไทยประจำวันพฤหัสบดีที่ 6  พฤษภาคม 2519  กระแสคลื่นจากการวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่ทันจาง ก็มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ระลอกใหม่โหมเข้ามา  เมื่อ “นายอำเภอปฏิวัติ” ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประจำปี 2518 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จากชื่อเสียงอันโด่งดังในห้วงเวลานั้นของบุญโชค เจียมวิริยะ เขาได้รับการชักชวนให้ไปเขียนในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์“นายอำเภอปะฉะดะ”เมื่อปี 2518-2519

“...ปากกาและตัวหนังสือแท้ ๆ ช่วยให้ข้าพเจ้ามีอาชีพเลี้ยงปากท้องตัวเองและลูกเมีย  เรื่องสั้นและนวนิยายที่บากบั่นเขียนได้รับการพิจารณานำลงในนิตยสารทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ข้าพเจ้าลืมตาอ้าปากได้จากนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตคือ ‘นายอำเภอปฏิวัติ’ซึ่งบรรณาธิการฟ้าเมืองไทยรับเอาและผู้อ่านก็รับอ่าน”เขาสารภาพความในใจไว้ในคำนำนวนิยายเรื่อง “ฟ้าสีดำ”

ในช่วงนั้นยอดพิมพ์ “นายอำเภอปฏิวัติ” เพิ่มขึ้นพรวดพราดอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งมียอดพิมพ์สูงถึงแสนกว่าเล่ม นับว่าหาได้ยากในยุคนั้นที่รางวัลซีไรต์ยังเป็นวุ้นอยู่ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ในวงวรรณกรรม รางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นรางวัลคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปัจจุบันคือรางวัลหนังสือดีเด่น หรือนิยมเรียกกันติดปากว่า รางวัลสพฐ. เพราะเห็นภาพชัดกว่า

บุญโชค เจียมวิริยะไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่ในวงวรรณกรรม  ช่วงที่เขาเรียนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เขาได้ศึกษาวิชาการประพันธ์จากศาสตราจารย์เจือ  สตะเวทิน  กระทั่งปี 2500 เขาส่ง

เรื่องสั้นเรื่องแรก “พ่อขา ทำไมถึงใจเพชร” ใช้นามปากกา “คม  ศุภลักษณ์” ไปที่หนังสือเพลินจิตต์และได้รับการตีพิมพ์ หลังจากนั้นได้เขียนลงที่เพลินจิตต์ ดรุณีและแสนสุขเป็นประจำ ปี 2505 เขามีผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรก "จากเพ็ญเดือนสิบสองคืนนั้น" ลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ยุคประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นบรรณาธิการ

ขอย้อนไปในวัยเด็กของ บุญโชค เจียมวิริยะ เขามีชื่อจริงว่า คมสัน  ศุภลักษณ์ ศึกษากร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น สุรคม ศุภลักษณ์ ศึกษากร พื้นเพเป็นคนจังหวัดนครราชสีมา บิดาเป็น

ครูและเป็นคนรักการอ่าน สะสมหนังสือไว้มากมาย เขาจึงมีโอกาสอ่านหนังสือวรรณคดีต่าง ๆ ได้แก่ ขุนช้าง ขุนแผน ราชาธิราช เป็นอาทิ รวมทั้งได้อ่านเรื่องแปลระดับคลาสสิคในยุคนั้นเรื่อง ความพยาบาท ของ แมรี คอลเรลลี สาวสองพันปีของ เซอร์ เอช. ไฮเดอร์  เรกการ์ด เป็นต้น ดังที่เขาบอกเล่า...

“ผมรักการอ่าน ขนาดที่ว่าหนีโรงเรียนไปอ่านหนังสือตามพุ่มไม้ หนังสือที่สนใจอ่านตอนเป็นเด็กอีกเล่มคือ วิทยาจารย์ ในเล่มมีทั้งภาควิชาการ สารคดีและบันเทิงคดี นวนิยาย เรื่องสั้นมีประจำทุกฉบับ จากความประทับใจที่มีต่อหนังสือ ทำให้อยากทดลองเขียนดูบ้าง”

งานเขียนชิ้นแรกของ บุญโชค เจียมวิริยะ ส่งประกวดเมื่อปี 2496 เป็นเรียงความเรื่อง

“ความรักชาติ” ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทประชาชนของกระทรวงมหาดไทย ปีต่อมา เขาส่งเรียงความเข้าประกวดของกรมป่าไม้ในหัวข้อ “ประโยชน์ของกรมป่าไม้” ได้รับรางวัลที่ 1จากรางวัลที่ได้รับนั่นเอง ทำให้เขาได้รับมอบหมายจากทางโรงเรียนให้เป็นบรรณาธิการหนังสือสามัคคีสารของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

หลังจากเรียนจบชั้นเตรียมอุดมศึกษาและสอบหลักสูตรครูเร่งรัด ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถม เขาเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนศิริวิทยากร จังหวัดนครราชสีมา ตามข้อผูกพันของนักเรียนทุนของจังหวัด  และทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเสียงราชสีมา ปี 2498 เขาไปศึกษาต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบ จึงไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารรัฐกิจที่ California  State  University, San  Diego

หลังจากบุญโชค เจียมวิริยะ ไปรับตำแหน่งปลัดอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านาเมื่อปี 2510 เขาได้ไปเรียนที่โรงเรียนนายอำเภอเมื่อปี 2512 จนจบหลักสูตร แล้วไปรักษาการนายอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือนายอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นขุมวัตถุดิบของนวนิยายเรื่อง “นายอำเภอปฏิวัติ” ที่สร้างความเกรียวกราวให้กับแฟนนักอ่านฟ้าเมืองไทยและวการมหาดไทย

 อดีตนายอำเภอผู้นี้ลาออกจากราชการไปทำไร่ที่จังหวัดนครราชสีมาในปี 2515 เนื่องจากผิดหวังในระบบราชการ หลังเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ในขณะที่เป็นชาวไร่ เขา

ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาแล้ว จึงหันมาจับปากกาอีกครั้งหนึ่ง นามปากกา “บุญโชค  เจียมวิริยะ” จึงปรากฏครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ที่มีประจวบ ทองอุไร เป็นบรรณาธิการ แต่ไม่สามารถสืบค้นได้ว่าชื่อเรื่องสั้นอะไร

หลังจากนวนิยายเรื่อง “นายอำเภอปฏิวัติ” จบ ผลงานเรื่องต่อมาของเขาในฟ้าเมืองไทยคือนวนิยายเรื่อง “นายอำเภอรวมพล” อันเป็นภาคต่อจากเรื่องแรก เมื่อนำไปพิมพ์รวมเล่มครั้งใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น “ฟ้าสีดำ” และได้สร้างเป็นภาพยนตร์ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “แผ่นดินเถื่อน” นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี งานที่มีคุณภาพในยุคนั้น เป็นหนังสือก็ขายได้ ทำเป็นหนังก็ขายได้ 

ผลงานของบุญโชค เจียมวิริยะมีดังนี้ รวมเรื่องสั้น-ฝากไว้กับความหลัง ลูกไม้มหาดไทย มหาดไทยสะเทือน ลูกหม้อมหาดไทย ใต้เงาอดีต เทพบุตรมหาดไทย มหาดไทยมาเฟีย มาเฟียขบวนสอง  ของขวัญนายอำเภอปะฉะดะ ทางผ่าน ใต้ธงใตรรงค์ผืนนั้น นวนิยาย-นายอำเภอปฏิวัติ  ฟ้าสีดำ ธาตุมนุษย์ สุดทางที่กาฬสินธุ์ (พิมพ์ครั้งแรกใช้นามปากกา “คม ศุภลักษณ์”) เกิดบ้านสวน เกิดแล้วต้องสู้ นิสิตหนุ่มและสู่รั้วสิงห์  สำหรับนามปากกา นอกจาก “บุญโชค เจียมวิริยะ” แล้ว ยังมีนามปากกาที่ใช้ในช่วงปี 2500-2515 คือ “คม ศุภลักษณ์” และ “นพ นนทมิตร” เขียนเรื่องสั้นในหนังสือเพลินจิตต์,ดรุณีและแสนสุข

หลังจากมีผลงานเรื่อง “นายอำเภอปฏิวัติ” และ ”ฟ้าสีดำ” เขาได้ตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ “สำนักพิมพ์บุญโชค  เจียมวิริยะ” พิมพ์ผลงานของตัวเองทุกเรื่อง ดังรายชื่อหนังสือที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากเขาได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดที่ถูกสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งโกงมาแล้ว โดยพิมพ์เกินเป็นหมื่นเล่ม   เขาจับได้คาหนังคาเขา ช่วงนั้นเป็นข่าวใหญ่โตมาก พอขึ้นศาล เด็กโรงพิมพ์ที่เป็นพยาน กลับคำ  เขาแพ้คดี ซ้ำยังต้องขอขมา  เป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับนักเขียนมาก ใครไม่เจอเอง ไม่รู้สึกหรอก  

เมื่อบุญโชค  เจียมวิริยะทำสำนักพิมพ์เอง เขาเอา “นายอำเภอปฏิวัติ”มาพิมพ์ใหม่ ก็ยังขายดี รวมทั้งผลงานเรื่องอื่นด้วย ผลงานของเขาเป็นที่กล่าวขวัญอีกครั้งหนึ่งในปี 2521  เมื่อนวนิยายเรื่อง “ธาตุมนุษย์”ที่เขาพิมพ์เอง เขย่าวงการหนังสือจนสะท้านสะเทือน  ด้วยการตีแผ่เล่ห์กลหลายของคนในวงการหนังสือ เรื่องนี้ขายได้ร่วมหมื่นเล่ม 

ปีถัดมา เขามีผลงานออกมาเป็นชุดของตัวละครเอกที่ชื่อ กล้า เหล็กเพชรในนามสำนักพิมพ์ “บุญโชค เจียมวิริยะ” เรื่องแรกคือ“เกิดบ้านสวน” เล่มต่อมาคือ “เกิดแล้วต้องสู้” (ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2534) ตามด้วย “นิสิตหนุ่ม”และภาคจบคือ “สู่รั้วสิงห์” ปรากฏว่าทั้งสี่ภาคขายดีทุกเล่ม

ชื่อของบุญโชค  เจียมวิริยะหายไปพักใหญ่ จนกระทั่งอีกหลายปีต่อมา ชื่อของเขาปรากฏอีกครั้งในนิตยสารบางกอก  มีล้อมกรอบโฆษณานวนิยายของเขาที่จะตีพิมพ์คือเรื่อง“เกิดแล้วต้องสู้” โดยมี “อรชร”เจ้าของนวนิยายเรื่อง ร้อยป่า ฯลฯ รับประกัน เป็นนวนิยายชุดกล้า เหล็กเพชรที่เขาเอามาขยายใหม่ให้ยาวขึ้น แต่มีเสียงตอบรับน้อยมาก เข้าใจว่านวนิยายเรื่องนี้ไม่บู๊โลดโผนโจน

ทะยานตามแนวของหนังสือบางกอก เพราะเป็นนวนิยายเรียลลิสติก ซึ่งเป็นแนวการเขียนที่เขียนจากเลือดเนื้อและชีวิตของเขา-บุญโชค เจียมวิริยะ ดังที่เขากล่าวไว้อย่างทระนง

“อิสระและเสรีภาพเป็นวิญญาณของนักเขียน นักเขียนจะต้องมีวิญญาณเสรีที่จะโบยบินไปกับงานเขียน เขียนเพื่อสัจจะ ความดีแก่จิตใจและเพื่อสังคมส่วนรวม”

นวนิยายเรื่อง “นายอำเภอปฏิวัติ” ได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้ายุคหนึ่งในโครงการวรรณกรรมเก่าหายากและพิมพ์ซ้ำอีกยุคดอกหญ้า 2543 ที่วัฒน์ วรรลยางกูรไปรับหน้าที่บรรณาธิการ เล่มหนาปึกมาก เพราะเอานวนิยายทั้งสองภาคมารวมกันในเล่มเดียวใช้ชื่อปกว่า “นายอำเภอปฏิวัติ ฉบับสมบูรณ์” โดยรวมแล้วพิมพ์ซ้ำประมาณ 15-16 ครั้ง

บุญโชค เจียมวิริยะ จากไปอย่างเงียบ ๆ เมื่อต้นปี 2555 ด้วยวัย 79 ปีเหมือนนักเขียนไทยในอดีตอีกหลายคน ฝากผลงานอันทรงค่าให้คนอ่านได้รำลึกถึง

ขอคารวะนักเขียนผู้มีอุดมการณ์อันมุ่งมั่น-บุญโชค เจียมวิริยะ มา ณ ที่นี้

 

 

“คนที่ไม่รู้จักอ่านหนังสือดี ๆ ไม่ได้มีข้อได้เปรียบคนที่อ่านหนังสือไม่ออกแต่อย่างใด” (มาร์ค ทเวน นักเขียนเอกชาวอังกฤษ)