เสือตัวที่ 6

ก้าวย่างที่ผ่านมาเมื่อต้นปี 2566 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คณะเดิมที่มี พลเอก วัลลภ รักเสนาะ ได้พบหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 กับคณะผู้แทน BRN ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี พลเอก ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวก ทั้งสองฝ่ายหวังสามารถบรรลุฉันทามตินำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติในปี 66 และ 67 ซึ่งในการพูดคุยของคณะพูดคุยชุดเดิมที่มี พล.อ.วัลลภ เป็นหัวหน้าคณะในครั้งนั้น มีสาระสำคัญในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ไข ความขัดแย้งและนำสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ  คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และคณะผู้แทน BRN เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย ให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง  

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ JCPP เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และ 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่าย คาดหวังว่า จะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งและนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่ายนัดหมายจัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงของการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) และ ขั้นที่สองอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี2566- ธันวาคม ปี 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเริ่มต้นขั้นการปฏิบัติต่อไป เพื่อร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง มีสาระสำคัญของการปรึกษาหารือในพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน โดยมี 5 เรื่องสำคัญที่ผลักดันจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงคือ 1.ยอมรับอัตลักษณ์พหุวัฒนธรรมของชุมชน 2.สิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการทางกฎหมาย 3.การศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 4.เศรษฐกิจและการพัฒนาในพื้นที่ 5.รูปแบบการบริหารในพื้นที่

และเมื่อกาลเวลาเดินหน้าไป กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปอย่างรอบคอบและลุ่มลึก ทั้งยังต้องศึกษาสถานการณ์ของสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ตลอดจนต่างประเทศให้กระจ่างชัดและทันต่อการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางความคิดและยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐของกลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐอย่างทันท่วงที และเมื่ออำนาจรัฐเปลี่ยน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐคนใหม่ก็เปลี่ยนเป็นนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นพลเรือนคนแรกที่มาทำหน้าที่นี้ในรอบ 10 ปี  นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่รัฐคิดใหม่โดยเลือกใช้บุคคลพลเรือนที่แม้จะอยู่ในแวดวงสภาความมั่นคงแห่งชาติมาหลายปี แต่กระแสในวันนี้เชื่อว่าอาจมีมุมมองที่เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่อันยาวนานได้เป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม             

และเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าพบ พล.อ. ตันซรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแนะนำตัว เนื่องในโอกาสที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย โดยหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมทั้งการแสวงหาหนทางแก้ปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุข ตลอดจนดำเนินมาตรการแนวทางหนุนเสริมอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างสันติสุขในพื้นที่ โดยเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความสำเร็จของกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ดำเนินการมาแล้วจากคณะพูดคุยชุดเดิมในห้วงที่ผ่านมา บนเส้นทางหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) ผ่านการเห็นชอบร่วมกันในแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ต่อไป

ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะมีการจัดการหารือเพื่อจัดให้มีการพูดคุยต่อไปตามแผนที่วางไว้โดยเร็ว โดยหวังว่าจะสามารถจัดการพูดคุยในระดับคณะทำงานทางเทคนิคได้ภายในเดือนมกราคม 2567 และตามด้วยการพูดคุยอย่างเป็นทางการแบบเต็มคณะต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ ที่ทำมาแล้ว ย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้นการเดินหน้าต่อไป คณะพูดคุยของรัฐจะต้องตระหนักว่าสิ่งใดควรทำต่อและสิ่งใดควรปรับแก้ เพื่อให้การเดินหน้าต่อไปของรัฐจะคงรักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งอาณาเขตอย่างสมบูรณ์ ด้วยการเดินต่ออย่างรอบคอบที่สุด