นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 4/2023 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว เพียงแต่แรงขับเคลื่อนอาจยังกลับมาได้ไม่ครบ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 และ 68 มีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยในปี 67 การส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ และช่วยเป็นแรงเสริมภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปี 67 ธปท.ประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.3% และ 3.3% ในปี 68 อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยยังมีความเสี่ยงจากที่อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่คาด จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย

ขณะที่นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเดียวกันว่า กรณีมีข้อกังวลว่าโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลตจะเพิ่มภาระทางการคลัง และอาจส่งผลให้ถูกบริษัทเครดิตเรทติ้ง ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยลงว่า โครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต อาจจะเพิ่มภาระทางการคลังได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้

นายปิติ กล่าวอีกว่า หากมองไปในระยะยาว ถ้ามีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต จริง ภาคการคลังก็ยังมีเสถียรภาพอยู่ ตราบใดที่มีเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามที่ประมาณการไว้ ดังนั้นเชื่อว่าโครงการ Digital Wallet จะไม่เป็นตัวที่ทำให้ประเทศต้องถูกปรับลดเครดิตเรทติ้งแต่อย่างใด

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.1% และหากรวมมาตรการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะขยายตัวได้ 3.6%  โดยมาตรการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทจะช่วยหนุนจีดีพี 0.50 % และหนุนเงินเฟ้อปรับจาก 0.8% เป็น 0.9%

ทั้งนี้  เมื่อพิจารณาตามเงื่อนเวลา คาดว่าร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้าน น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราฎรได้ไม่เกินเดือนเมษายน 2567 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดไว้ว่าจะดำเนินการโครงการในเดือนพฤษภาคม 2567

อย่างไรก็ตาม  นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ ผ่านเว็บไซต์นิกเคอิเอเชียของญี่ปุ่น กรณีแผนการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนาว่า หากโครงการดังกล่าวล้มเหลว ตนก็จะยังไม่ลาออก

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ไม่แน่ใจว่าเป็นการตอบคำถามกับสื่อโดยนายกรัฐมนตรีได้ศึกษากฎมายมาก่อนหรือไม่ ว่าไม่มีข้อกำหนดใดบังคับให้ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หากกฎหมายการเงินไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังมีเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติและความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยที่นายกรัฐมนตรี ยกเลิกหรืออาจเป็นการสร้างธรรมเนียมใหม่

ภายใต้สถานการณ์ที่พรรคฝ่ายค้านโดยพรรคก้าวไกล กำลังสร้างมาตรฐานใหม่ในแนวทางเรื่ององค์ประชุม ที่ต้องยึดกติกาให้มีจำนวนสส.เกินกึ่งหนึ่งองจำนวนสส.ทั้งหมด ทั้งการนับองค์ประชุมก่อนลงมติและหลังลงมติ  ซึ่งอาจเป็นประเด็นท้าทายต่อเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายของรัฐบาล รวมทั้งญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย