เว็บไซต์ https://www.thaihealth.or.th/ รายงานว่า นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 ในหัวหัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ถึงปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันในประเทศไทย เป็นสิ่งที่เรื้อรังมายาวนาน ไม่เพียงแค่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล หรือทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่ผ่านมา ภาคเหนือประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 มานานกว่า 15 ปี แต่ละช่วงเพิ่มระยะเวลานานขึ้นเรื่อย ๆ จาก 2-3 เดือนเป็น 4-5 เดือน วิกฤตที่เพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปี จนทำให้จังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุมีหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุมได้

สถิติจังหวัดภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่เผาไหม้มากที่สุด ปี 2566 ระยะเวลา 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.)ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 22.05%, ตาก 13%, ลำพูน 12.83%, ลำปาง 9.83%, น่าน 9.32%, เชียงใหม่ 8.50%, แพร่ 7.88%, พะเยา 6.85% และเชียงราย 5.08%  เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ทำให้เห็นว่า การเผาป่าภาคเหนือตอนบนยังไม่ลด รัฐบาลให้ความสำคัญในการรับมือ ป้องกัน และแก้ไขวิกฤตปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาด พร้อมจัดตั้งคณะ PM2.5 แห่งชาติ มีคณะกรรมการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ และบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทควบคุม ปรับลด แก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้ ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566  มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....จากกรณีที่ได้มีมติ (31 ต.ค. 66) เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอว่า รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมและเท่าทันต่อเหตุการณ์ จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน

ทั้งนี้  เราอยากเห็นความสำเร็จในการผลักดันร่างกำหมายดังกล่าวโดยเร็วและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังเข้มข้น เพื่อวันนี้ที่ไม่เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ และหวังว่าจะส่งต่ออากาศที่ดีขึ้นให้ลูกหลาน