สถาพร ศรีสัจจัง

เมื่อฆ่า “เพื่อนทรยศ” คือ “ผู้ใหญ่อินบ้านโคกวา” และ “กำนันสีสงคราม” เรียบร้อยแล้ว “รุ่ง ดอนทราย” ก็สถาปนา “ชุมโจรขึ้นอย่างเต็มรูปแบบดังได้กล่าวมาแล้ว คือมีการตั้งหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตัวต่อชาวบ้านของสมาชิกชุมโจรอย่างเคร่งครัด มีการจัดทำ “ปืนปลอกเงิน” ขึ้นเป็นเครื่องหมาย “อาญาสิทธิ์” คือ ให้ชาวชุมโจรทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ถือปืนปลอกเงินกระบอกนี้(แม้หัวหน้า คือ “รุ่ง ดอนทราย” จะไม่ได้มาหรือออกคำสั่งด้วยตัวเอง

อาจารย์ประมวล มณีโรจน์ นักวิชาการพื้นถิ่นแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลาคนสำคัญ ผู้จุดประกายการศึกษาเรื่องราวของชุมโจร “รุ่ง ดอนทราย” ได้สรุปบรรยากาศของเมืองพัทลุงยามนั้นไว้ว่า

"…และเหมือนไม่มีที่ใดอีกแล้ว บนที่ราบทางด้านตะวันออกของเทือกเขาบรรทัดอันกว้างใหญ่ ที่จะเงียบสงบพอให้ได้ยินเสียงของยอดไม้ต้นฤดูฝนระบัดใบ…” (หมายถึงมีแต่เสียงปืนจากการปล้นสะดมและการต่อสู้ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับสมาชิกชุมโจร?)

ชุมโจร “รุ่ง ดอนทราย” ที่เกิดจากความคับแค้นใจและการรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับ “ความเป็นธรรม” ทั้งจาก “ทางการบ้านเมือง” และ “เพื่อนทรยศ” ของเด็กหนุ่มฉกรรจ์ ลูกหลานแท้ๆของชาวบ้านธรรมดาๆแห่งชุมชน “บ้านดอนทราย” เพียงคนหนึ่ง ค่อยขยายอิทธิพลกว้างขวางออกไปอย่างรรวดเร็ว

มีโจรกลุ่มเล็กๆและโจรเล็กโจรน้อยต่างเข้ามาสวามิภักดิ์ร่วมชุมโจรด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ มีลักษณะจัดตั้งกันขึ้นเหมือนต้องการ “ล้อ” ระบบการจัดตั้งของ “อำนาจรัฐ”

พวกเขามีผู้นำสูงสุดคือ “ขุนพัท” (คือ “รุ่ง ดอนทราย” ซึ่งมีฐานะเหมือนเป็นเจ้าเมืองพัทลุง)

(ที่มาของคำ “ขุนพัท” นี้อธิบายกันหลายทาง เช่นทางหนึ่งบอกว่า คือ “ขุนพัทลุง” ที่เป็นผู้มีอำนาจเหนือเมืองพัทลุงยามนั้น บางกระแสก็ว่า ที่เรียก “รุ่งขุนพัท” ก็เพราะ หลังจากที่ “รุ่ง ดอนทราย” ฆ่าเพื่อนนักโทษและแหกคุกประจำมณฑลนครศรีธรรมราชออกมาได้สำเร็จนั้น ทำให้ “พัศดี” ที่ดูแลคุกดังกล่าวถูกทางราชการสั่งปลดจากตำแหน่ง  จึงมีคำพูดทำนองว่า “รุ่งเอาตำแหน่งขุนพัศไปเสียแล้ว” หรืออะไรทำนองนั้น)

ลูกน้องคนสนิทที่ช่วยปกครองชุมโจรแต่ละคนก็ล้วนมีการตั้ง “ทินนาม” หรือ “ฉายา” กันทั้งสิ้น เช่น “ดำ หัวแพร” รองหัวหน้า ได้ตำแหน่งเป็น “ขุนอัศดงไพรวัน” / “ดำ ปากคลอง” เป็น “ขุนอรัญไพรี” / “วัน พาชี” ชาวบ้านม่วงลูกดำ (ถูกคดีขโมยม้า)เป็น “ขุนประจบดำแพรสี” และ “ดำ บ้านพร้าว” เป็น “ขุนพเนศพยอมหาญ” (เหมือนล้อกับราชทินนามของกำนันตำบลป่าพยอมยามนั้น) เป็นต้น

หลังจากจัดตั้งชุมโจรจนชื่อเสียงขจรขจายไปทั้งพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ชาวชุมโจรก็ปฏิบัติ “กิจโจร” บนพื้นฐานของ “หลักการ” ที่บัญญัติขึ้นเป็นกฎเหล็กจนเป็นที่เชื่อถือของชาวบ้านในพื้นที่ คือ อำเภอทะเลน้อยขณะนั้นและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง(ด้วยความหวาดกลัว?)กันอย่างกว้างขวางเรื่อยมา จนถึงวาระที่ขุนโจรหัวหน้าชุมนาม “รุ่ง ดอนทราย” สิ้นชีพ(แต่ไม่สิ้นชื่อ?)…!

ความตายของ “รุ่ง ดอนทราย” นั้น อาจารย์ประมวล มณีโรจน์ ผู้ศึกษาเรื่องนี้ได้บรรยายไว้ในบทความเรื่อง “โจรพัทลุงกรณีชุมโจรแห่งคำบลดอนทรายฯ” อย่างค่อนข้างละเอียดลออ สรุปได้ดังนี้ :

“…ประมาณปี 2462” รุ่ง ดอนทราย “ล้มป่วยลงปางตายด้วยฝีบัวคว่ำบัวหงายขนาดใหญ่ และด้วยนิมิตสำแดงมรณะหลายประการ ทำให้เขาต้องปรารภกับพวกพ้องว่าอยากกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน…นางหนูขีดลูกสาวกำนันคลิ้ง (ที่ถูก “รุ่งดอนทราย” ฆ่าล้างแค้น ผู้เขียน) ได้เห็นเหตุการณ์…คืนนั้นขุนสถลสถานพิทักษ์ (นายอำเภอทะเลน้อยขณะนั้น ผู้เขียน) จึงนำกำลังตำรวจพร้อมอาวุธ…เข้าล้อมบ้านขุนโจรเอาไว้อย่างแน่นหนา…

…เสียงปืนของฝ่ายปราบปรามก็คำรามกึกก้องกลบสรรพสำเนียงอื่นใดหมดสิ้น รุ่ง ดอนทรายและลูกน้องในยามยากอีก 2 คน คือทุ่ม  ควนเนียด และ ทับ  ลำพาย เสียชีวิตพร้อมกัน ส่วนสี  ห้วยท่อม ได้ใช้จังหวะแห่งลูกผีลูกคนพลิกกายลอดช่องแมว และใช้ฉากแห่งความมืดหลบหลีกหนีรอดไปได้…เช้าวันรุ่งขึ้น ศพของขุนโจรซึ่งได้รับตกแต่งอย่างเรียบร้อย ด้วยเครื่องแต่งกาย “แบบโจร” ก็ถูกนำไปมัดประจานในท่ายืน ไว้กับต้นตาลหน้าวัดกุฏิ(วัดสุวรรณวิชัย)ตำบลควนขนุน…หมายสำทับให้สมาชิกชุมโจรเกิดความหวาดกลัว…”

หลัง “รุ่ง ดอนทราย” ถูกทางการยิงเสียชีวิตคาบ้านพร้อมลูกน้องอีก 2 คน  แทนที่ชุมโจรจะยอมสยบแก่บ้านเมือง  “ดำ หัวแพร” หรือ “ขุนอัสดงไพรวัน” รองหัวหน้าฯก็ประกาศตัวเป็นหัวหน้าชุมโจรอย่างเป็นทางการสืบต่อจาก “รุ่ง ดอนทราย”  ทั้งยัง ปรากฏว่า ชุมโจรในยุคที่มี “ดำ หัวแพร” เป็นหัวหน้า ก็ยิ่งขยายสมาชิกกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมมาก มีปฏิบัติการปล้นฆ่าอย่างกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้นกว่ายุคการนำของ “รุ่ง ดอนทราย” เสียอีก ลือกันต่อมาว่าถึงขนาดมีการประกาศนัดสถานที่ท้ายิงกับตำรวจชนิดไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมทีเดียว!

ที่สำคัญก็คือ สิ่งแรกที่ “ดำ หัวแพร” ดำเนินการเมื่อประกาศเป็นหัวหน้าชุมโจรแล้ว ก็คือการแก้แค้นให้ “รุ่ง ดอนทราย” อดีตลูกพี่

คนที่เป็นสายและนำกำลังตำรวจเข้าล้อมยิง “รุ่ง ดอนทราย” ทุกคนถูกฆ่าตายอย่างเหี้ยมโหดแบบที่อาจเรียกว่า “เชือดคอไก่ให้ลิงดู” อย่างไรก็อย่างนั้น

ประมวล มณีโรจน์ ได้เขียนบรรยายฉาก “แก้แค้น” ของขุนโจร “ดำ หัวแพร” (ผู้ที่ชื่อเสียงยังเป็นตำนานให้ถูกกล่าวขานถึงอยู่จวบจนปัจจุบัน)ไว้อย่างละเอียดยิบ

ที่สำคัญน่ารับรู้ก็คือ ฉากการยกพลพรรคบุกไปจับตัว “ยก ยางแค” ผู้เป็น “คนนำทาง” เจ้าหน้าที่ตำรวจไปล้อมฆ่า “รุ่ง ดอนทราย” กลางงานแต่งงานหนึ่งในตอนกลางวันแสกๆ แล้วลงมือ “ประหาร” โดยการใช้ “พร้าลืมงอ” เชือดคอ ( “พร้าลืมงอ” เป็นมีดพร้าชนิดที่ชาวชุมโจรใช้เป็น “อาวุธสัญลักษณ์” โดยการแบกที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป เรียกกันว่า “แบกบังหู”)ท่ามกลางผู้คนที่มาร่วมงานแต่งงานนั้นเป็นจำนวนมาก

เรื่อง “ดำ หัวแพร” หัวหน้าชุมโจรต่อจาก “รุ่ง ดอนทราย” จะไม่ลงรายละเอียดมากไปกว่านี้ เพราะการเขียนเรื่องนี้ เพียงตั้งใจจะปูพื้นฐานเรื่องความเป็น “คนนักเลงเมืองลุง” ของ “รุ่ง ดอนทราย” เพื่อเปรียบเทียบกับกรณีของ “แป้ง นาโหนด” ให้เห็นถึงเหตุปัจจัยทางประวัติศาสตร์ของ “คนพื้นที่” นี้เท่านั้น

ที่จริง อีกกรณีหนึ่งที่ควรยกขึ้นมาเขียนเชิงเปรียบเทียบกับกรณี “แป้ง นาโนนด” ก็คือกรณีของ “พี่น้องตระกูลเส้งเอียด” ตระกูลโจรร่วมสมัยของจังหวัดพัทลุงที่บางคนยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเคยก่อคดีเรื่องราวจนลือลั่นเพราะ “ความคับแค้น” อย่างเป็นที่รู้ๆกัน

เอาเป็นว่า ใครที่อยากรู้เรื่องราวเหล่านี้อย่างละเอียด อย่างลงลึกจริงๆ อย่างเป็นระบบเชิงวิชาการ ฯลฯ  ทั้งเรื่องของตระกูลเส้งเอียด เรื่องของชุมโจร “รุ่ง ดอนทราย-ดำ หัวแพร” และ บริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “วัฒนธรรมโจรรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา” สามารถเสาะหาสืบค้นหาอ่านอย่างละเอียดยิบได้จาก “วารสารทักษิณคดี” ของ “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” (เกาะยอ เมืองสงขลา) เป็นวารสาร  ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (เดือนมิถุนายน-กันยายน พ.ศ.2537) ในนั้นจะมีบทความที่เกี่ยวข้องกับ “โจร: ภาพลักษณ์ในวัฒนธรรมใต้” ทั้งของอาจารย์ประมวล มณีโรจน์และอาจารย์ล้อม  เพ็งแก้ว ที่บทความนี้อ้างถึง รวมทั้งบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ของศ.สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์/ศ.อาคม  พัฒิยะ/อ.สมเจตนา มุณีโมไนย และคนอื่นๆ

แถมท้ายอีกนิด ฟังว่าตอนนี้ในวงการหนังสือเก่า วารสารเล่มนี้ราคาพุ่งขึ้นไปเป็นพันสองพันเข้าแล้ว คงต้องหาอ่าน(หรือขอถ่ายสำเนา) เอาตามห้องสมุดใหญ่ๆนั่นแหละน่าจะดีที่สุด และที่แน่ๆอีกอย่างก็คือ “บรรณาธิการ” วารสารฉบับนี้นั้นชื่อ “สถาพร  ศรีสัจจัง” แฮะๆๆๆ!