เสือตัวที่ 6

ในขณะที่ภาพสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้จะดูประหนึ่งว่ามีความสงบมากขึ้นจากการก่อเหตุรุนแรงต่างๆ ลดน้อยถอยลง หากแต่ทว่ากระบวนการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระในการปกครองกันเองในรูปแบบที่กลุ่มคนแกนนำในขบวนการแบ่งแยกดินแดนแห่งนี้ต้องการนั้นยังคงเดินหน้าอยู่ต่อไปอย่างแรงกล้าทุกวินาที และเชื่อได้ว่าสถานการณ์การต่อสู้กับรัฐของขบวนการแบ่งแยกการปกครองในพื้นที่แห่งนี้อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเหนือฝ่ายรัฐ ด้วยบทเรียนที่ผ่านมาพบว่า เมื่อใดที่การต่อสู้ของขบวนการร้ายแห่งนี้ไม่เป็นไปตามแนวทางสู่เป้าหมายที่ต้องการ แกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้ จะต้องบงการให้กองกำลังติดอาวุธที่สอดแทรกปะปนไปกับมวลชนแนวร่วมในพื้นที่ออกปฏิบัติการก่อเหตุร้ายทำลายความสงบสุขในทันทีที่มีโอกาส และในทางกลับกัน หากย่างก้าวของการต่อสู้ของขบวนการร้ายแห่งนี้ ยังคงอยู่ในเส้นทางที่ต้องการ พวกเขาจะผ่อนแรงการต่อสู้ด้วยอาวุธและหันมามุ่งมั่นในการเดินหน้าต่อสู้ทางความคิดต่อไปอย่างเข้มข้นทั้งในพื้นที่และในระดับนโยบายของรัฐอย่างแนบเนียนยิ่ง

ในขณะที่มีการเปลี่ยนอำนาจรัฐมาสู่กลุ่มคนกลุ่มใหม่ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานของรัฐ ถ่ายเทน้ำหนักการต่อสู้ในระดับพื้นที่ท้องถิ่นไปสู่การส่งผ่านแนวความคิดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ของพวกเขา นั่นคืออิสรภาพในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่ในรูปแบบที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการอย่างแยบยลยิ่ง ด้วยการสอดแทรกแนวคิดในทุกรูปแบบและทุกช่องทางที่เป็นไปได้ไปในระดับนโยบายของรัฐที่จะนำไปสู่แนวทางที่เอื้ออำนวยในการมีอิสระในการปกครองกันเองตามที่แกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้ต้องการ เหล่านี้คือห้วงเวลาสำคัญที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานกำลังเร่งขับเคลื่อนการต่อสู้ในระดับนโยบายของรัฐด้วยการสอดแทรกแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในการปกครองกันเองของพวกเขาในที่สุด

ล่าสุด ครม. เห็นชอบร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2565 – 2567 และร่างแผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2566 - 2570 ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญของร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2565 – 2567 นั้นมีกรอบแนวคิดนโยบายให้ยึดมั่นในหลักการแบบสันติวิธี   หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน ร่างนโยบายฉบับนี้ มุ่งขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ประชาชนมีความปลอดภัยและมีสันติสุข บนพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. แก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมและแนวโน้มสถานการณ์โดยปราศจากเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง 2. พัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรม และ 3. มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของประชาชนโดยมีกลไกการบริหารออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1. กลไกระดับนโยบาย ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติมีหน้าที่อำนาจหลักในการพิจารณาแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย 2. กลไกระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ กำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง และ 3. กลไกระดับปฏิบัติในพื้นที่กำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในพื้นที่

สำหรับร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2565 – 2567 ภายใต้ 3 แนวทาง ดังนี้ 1.แนวทางด้านความมั่นคง มุ่งรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประกอบด้วย 3 แผนงาน อาทิ แผนงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุย 2.แนวทางด้านการพัฒนา มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมในระดับฐานรากเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงประกอบด้วย 4 แผนงาน อาทิ แผนงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนต่อกระบวนการด้านความยุติธรรม และแผนงานพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 3.แนวทางด้านการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐให้พร้อมขับเคลื่อนงาน

เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างนโยบายการบริหารฯ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2565 – 2567 ฉบับที่ ครม. เห็นชอบดังกล่าวแล้วจะพบว่า ล้วนเป็นประเด็นนโยบายที่ดีในการแก้ปัญหาความแปลกแยกของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานของรัฐ หากแต่ว่าในทางปฏิบัติที่ไม่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปจะพบว่า มีกลุ่มคนที่เป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐทั้งที่ตั้งใจและที่ไม่ได้ตั้งใจ ต่างพยายามสอดแทรกแนวคิดเชิงนโยบายที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายขบวนการแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยความเห็นต่างจากรัฐอย่างสุดโต่งให้มีผลต่อการปฏิบัติอย่างแนบเนียนยิ่ง ท่ามกลางภาพปรากฏของสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ดูประหนึ่งว่ากำลังเข้าที่เข้าทาง ทำให้รัฐพยายามต่อยอดสิ่งที่คิดว่าเป็นความสำเร็จเหล่านั้นให้รัฐและคนเห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมในนโยบายดังกล่าว ทั้งยังมีกลุ่มคนที่พยายามส่งผ่านแนวคิดอันหมิ่นเหม่ต่อการกระทบต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตต่อกรรมาธิการการทหารฯ วุฒิสภา ซึ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้รัฐต้องตระหนักรู้และเท่าทันความพยายามในการสอดแทรกแนวคิดสู่นโยบายของรัฐที่จะเข้าทางฝ่ายขบวนการแบ่งแยกการปกครองในรูปแบบที่พวกเขาต้องการในที่สุด