26 ธันวาคมเมื่อ 19 ปีที่แล้ว  ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ หรือ “สึนามิ”  ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ ทั้งภูเก็ต, พังงา, ระนอง, กระบี่, ตรัง และสตูล ส่งผลให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ โดยมีผู้เสียชีวิต5,400 ราย บาดเจ็บกว่า 8,000 ราย และมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก

กรมทรัพยากรธรณี ให้ความหมาย “สึนามิ”เอาไว้ว่าเป็น  คลื่นขนาดใหญ่ที่เป็นผลจากการยกตัวของน้ำทะเล เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว หรือแผ่นดินถล่ม หรือภูเขาไฟระเบิดใต้มหาสมุทร คลื่นสึนามิมีระดับความรุนแรงสูง เมื่อเคลื่อนตัวผ่านที่ตื้นซึ่งจะทำให้ความสูงของคลื่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 15 เมตร ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์และสิ่งก่อสร้างในบริเวณชายหาดนั้นๆ

ทั้งนี้โดยปกติกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา มีหน้าที่มอนิเตอร์ข้อมูล หากพบแผ่นดินไหวรุนแรง จะมีการประมวลผลด้วยโปรแกรมเฉพาะเพื่อแปรผลวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดว่ามีโอกาสเกิดสึนามิหรือไม่ หากวิเคราะห์แล้วมีโอกาสเกิดจะประสานไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้แจ้งเตือนประชาชน

แต่นอกจากการรอข้อมูลการแจ้งเตือนของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวแล้ว ข้อมูลจากศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ให้ข้อสังเกตการเกิดแผ่นดินไหวในลักษณะใด ที่จะทำให้เกิดสึนามิเอาไว้ จากการพูดคุยกับดร.ไพบูลย์ นวลนิล ระบุไว้  3 ข้อหลักๆคือ 

1.เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดในทะเล ขนาด 7 ริกเตอร์ขึ้นไป

2.เป็นแผ่นดินไหวตื้นศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีความลึกน้อยกว่า 50 กิโลเมตร

และ3.เปลือกโลกเคลื่อนตัวในแนวดิ่ง หรือใกล้เคียงกับแนวดิ่ง (เปลือกโลกขยับตัวขึ้นลง)

ข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แนะข้อควรจำคือ “คลื่นสึนามิจะไม่เกิดเพียงระลอกเดียว จะเกิดขึ้นได้หลายระลอกคลื่น และคลื่นลูกหลังอาจใหญ่กว่าคลื่นลูกแรก เมื่อน้ำทะเลลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติให้คาดว่าอาจเกิดสึนามิ สึนามิมักเกิดหลังแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเล หากอยู่บริเวณชายฝั่งจะเป็นอันตราย

ข้อควรปฏิบัติ

-ตรวจสอบดูว่าที่พักอาศัยอยู่นั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิหรือไม่

-ควรรู้ระดับความสูงของถนนเมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเล และระยะห่างของถนนจากชายฝั่ง

-สร้างความคุ้นเคยกับป้ายสัญญาณเตือนภัยสึนามิ

-จัดทำแผนอพยพหนีภัย

-เลือกพื้นที่ที่เป็นที่สูง

-เตรียมอุปกรณ์ชุดยังชีพเพื่อพร้อมอพยพหนีภัย

-ห้ามลงทะเล ห้ามลงไปอยู่บริเวณชายหาดเมื่อมีประกาศเตือนภัยสึนามิ

-ควรมีวิทยุแบบใช้แบตเตอรี่เพื่อฟังข่าว

วิธีการปฏิบัติ

-ถ้าคาดว่าจะเกิดสึนามิให้หนีออกจากบริเวณชายฝั่งโดยทันที เรือให้ออกจากฝั่งสู่ทะเลลึก

-ติดตามข้อมูลทางวิทยุ โทรทัศน์ ถ้ามีประกาศเกิดสึนามิให้อพยพทันที

-ให้หนีห่างจากชายฝั่งให้ไกลที่สุด ไปยังพื้นที่สูงที่คาดว่าปลอดภัย

-ให้ช่วยเหลือ เด็ก คนชรา คนพิการ ผู้ที่อ่อนแอกว่า พาหนีภัยด้วย

-ควรหนีภัยด้วยการเดินเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงกาตจราจรติดขัด จะกลับสู่ที่พักอาศัยก็ต่อเมื่อมีประกาศจากทางราชการเท่านั้นว่าปลอดภัย

 

เหนืออื่นใด เราเห็นว่าประชาชนทั่วไป ควรเข้าร่วมซักซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิ และกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ เพื่อป้องกันภัยตัวเอง ครอบครัวและชุมชน