“เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำ วันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและ ต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว”

พระราชบัญชาสั่งข้างต้นต่อแม่ทัพนายกอง สะท้อนถึงน้ำพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชให้กับประเทศไทย นับแต่เสียกรุงศรีอยุธยา

โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมไพร่พล 500 คน ตีฝ่าวงล้อมข้าศึกออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุง มาตามหัวเมืองภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ตั้งมั่นที่จันทบุรีเพื่อรวบรวมกำลังไปกอบกู้เอกราช หลังจากนั้นได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 28 ธันวาคม

โดยวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 เป็นวันปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” ซึ่งประชาชนเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” และได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี

ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย และได้สร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐานบนแท่นคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และให้ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์สืบต่อไป

ในวันนี้ ของทุกปี  จึงมีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์   ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ