สถาพร ศรีสัจจัง

ลุถึงวันนี้ ถ้าสังคมไทยมีระบบการศึกษาที่ฝึกคนให้เรียนรู้ในการ “คิดเป็น” “สังเคราะห์เป็น” ก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่จะสามารถใช้ “กระบวนทัศน์” ที่ได้รับการฝึกฝนเรียนรู้มานั้น หยั่งแลลงไปเห็น “เนื้อใน” ของ “ปรากฏการณ์” แป้ง นาโหนด 

ว่า สามารถอธิบายเรื่อง “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” เกี่ยวกับพัฒนาการของ “รัฐไทย” และ “คตินิยมทางสังคม” ของผู้คนรอบลุ่มทะเลสายสงขลา ได้ในระดับหนึ่งๆ

เพื่อที่จะได้นำการ “หยั่งเห็น” เหล่านั้น ไปสรุปเป็นบทเรียน ทั้งเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาผู้คนและสังคมไทยอย่างน้อยก็ในพื้นที่นี้ต่อไป!

แน่ละอาจมีคน “แลเห็น” ดังว่าอยู่บ้าง (แม้ผลสำรวจขององค์กรสากลล่าสุดจะพบว่าระบบการศึกษาไทยล้าหลังเต็มทีก็ตาม) แต่น่าจะไม่ใช่คนในโครงสร้างส่วนที่ “คุมอำนาจ” ของรัฐไทย ที่หลายผู้รู้มักสรุปได้ตรงกันเสมอมาว่า สืบสานขนบนิยมการใช้ “อำนาจเป็นธรรม” กันมาอย่างหนักแน่นยาวนาน แน่นอน!

เรื่องราวเกี่ยวกับ “คตินิยมการเป็นคนนักเลงและการต่อต้านอำนาจรัฐ” ของผู้คนในพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบสงขลานั้นมี “นักวิชาการ” ทั้งในระบบ และ นอกระบบสนใจศึกษาและพยายามหาข้อสรุป รวมถึงการชี้ทางออกจากปัญหาไว้แล้วก็ไม่น้อย

เฉพาะในกรณีพื้นที่จังหวัดพัทลุง เมืองที่ได้รับการประมวลสรุปเกี่ยวกับพื้นเพนิสัยใจคอของผู้คนไว้ตั้งแต่เก่าก่อนว่า เป็น “คนชังกั้ง” นั้น (ดูสำนวนปักษ์ใต้ “สงขลาหมัง เมืองลุงชังกั้ง ตรังยอน คอนรุม”) ยิ่งมีคนศึกษาแบบ “ลงลึก” ในเรื่องนี้ว่า เป็นที่มาของคติ “คนนักเลง” และ “ไม่รบ” นาย “ไม่หายจน” ไว้อย่างเป็นพิเศษ 

ใครที่สนใจเรื่องนี้จริงจัง ย่อมสามารถไปหาศึกษาผลงานของนักปราชญ์นักคิดซึ่งเป็น “ลูกที่” ที่ได้เขียนขึ้นไว้ให้คนชั้นหลังได้ “ศึกษาเรียนรู้” ทั้งที่เป็นงานวิจัย บทความเชิงวิจัย บทความเชิงทรรศนะ บทรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น กระทั่งที่เป็นงานวรรณกรรมร่วมสมัย เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น หรือบทกวี

ถ้านึกไม่ออกหรือไม่รู้ว่าท่านเหล่านี้มีนามชื่อใดบ้าง ก็จะขออนุญาตบอกนามไว้สักจำนวนหนึ่งพอเป็นการ “นำร่อง” น่าจะได้แก่ชื่อเหล่านี้ (ตามภูมิรู้เท่าที่พอจะมีอยู่ของคนเขียน):

ศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ (ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอ/เมธีวิจัยอาวุโส สกว.)/ต้นแบบต้นคิดในการจัดทำ “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย” ฯลฯ) อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว/ศาสตราจารย์อาคม พัฒิยะ/อาจารย์ประมวล  มณีโรจน์/รองศาสตราจารย์ยงยุทธ  ชูแว่น/ไพฑูรย์  ธัญญา/กนกพงศ์ สงสมพันธ์(เรื่องสั้น) เป็นต้น

เรื่องของ “แป้ง นาโหนด” นั้นเกิดในปี พ.ศ. 2566  ในยุคที่ระบบการปกครองประเทศไทยเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ขณะที่เรื่องของ “รุ่ง ดอนทราย” เกิดเมื่อช่วงปีพ.ศ. 2462 ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในระบอบ “ราชาธิปไตย” หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งนักการเมืองไทยตั้งแต่ปีพ.ศ.2475 เป็นต้นมา กล่าวประณามกันนักหนาว่าเป็นระบบล้าหลัง เพราะเป็นระบบที่ “ไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม”)

นับระเวลาห่างกันระหว่างเรื่องของ “แป้ง นาโหนด” กับ “รุ่ง ดอนทราย” นั้น ก็ต้องนับได้ว่ามากกว่า 1 ศตวรรษ คือประมาณร้อยกว่าปีนิดๆ !

คำถามก็คือ แม้จะมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของสังคมต่างกัน การจัดระบบในการปกครองแตกต่างกัน กฎหมายแตกต่างกัน ฯลฯ

ถ้าจะเรียกให้สมสมัยแบบยุคปัจจุบันก็คือ โดยรูปแบบแล้ว มีความแตกต่างกันในระดับ “ระบบอนาล็อก” กับ “ระบบดิจิทัล” ทีเดียว !

แต่ปรากฏการณ์ด้าน “เนื้อหา” ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ตัวแทนของผู้มีอำนาจในการปกครอง” (คือข้ารัฐการ)กับ “ผู้ถูกปกครอง” (คือราษฎร) ดูเหมือนจะยังไม่แตกต่างกันนัก 

กรณี “แป้ง นาโหนด” กับ “รุ่ง ดอนทราย” ที่เมืองพัทลุง ซึ่งได้พูดถึงเชิงเปรียบเทียบมาแต่ต้น น่าจะเป็น “ภาพปรากฏให้เห็นจริง” ตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยยืนยันถึงเรื่องนี้!

“เนื้อใน” ของระบบและตัวแทนของ “ผู้ปกครอง” (ข้ารัฐการด้านการปกครองและที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ และอื่นๆ) ยังคงเป็นตัว “สร้างปัญหา” ให้กับผู้คนในสังคมไทยที่คล้ายคลึงเหมือนกับ “ก๊อบปี้” เนื้อหากันมา!

แม้จะแตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องราวรายละเอียด เช่นมีความ “ซับซ้อน” ในด้านเทคนิควิธีที่ต่างกัน มีผลประเโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันทั้งในเชิงรูปแบบและเชิงปริมาณ เป็นต้น

แต่ผลลัพธ์ซึ่งประชาชนคนทั่วไปที่สนใจในเรื่อง “ความยุติธรรมทางสังคม” อยู่บ้าง สามารถตระหนักรู้ได้ในความรู้สึกก็คือ “แทบไม่แตกต่างกันเลย” กล่าวคือ ยังคงเต็มไปด้วยการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ฉวยโอกาส หาผลประโยชน์แบบดิบเถื่อน และเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น!

กล่าวจำเพาะจังหวัดพัทลุง เมืองที่มีภาพลักษณ์ทำนอง “ไม่รบนายไม่หายจน”  /เมืองที่มีความเชื่อแบบ “นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา”/ เมืองที่ถูกสำนวนเก่าสรุปไว้ว่า “เมืองคนชังกั้ง”/ เมืองของ “คนนักเลง” (แบบปักษ์ใต้แท้ คือเป็นคนจริง คนกล้า และรักความยุติธรรม) เมืองที่เกิดกลุ่มคนต่อต้านอำนาจรัฐ(ที่ไม่เป็นธรรม)มาโดยตลอด มีเป็นรูปธรรม เช่น ยุคชุมโจร “รุ่ง ดอนทราย /ยุค” ถีบลงเขา เผาลงถังแดง (จนคนต้องเข้าป่าจับปืนเป็นจำนวนมาก) จนถึงยุค “แป้ง นาโหนด” ในวันนี้ ฯลฯ

ฟังว่า คำถามที่ชาวบ้านที่นั่นรู้สึกตรงกันในวันนี้ก็คือ เมื่อไหร่หนอ ระบบที่ชั่วร้ายสามานย์แบบนี้จะจบสิ้นลงเสียที หรือต้องรอจนถึงชาติหน้า?!!