คนเราทุกคนล้วนต้องการความสุขกันทั้งนั้น ไม่มีใครต้องการความทุกข์หรอก ขณะที่เมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์นั้น ขนาดและระดับของแต่ละคนนั้น ก็ยากที่จะวัดหรือจับต้องได้แน่ชัด แม้ปัจจุบันจะมีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เป็นเครื่องมือในการวัดระดับความสุข และความทุกข์ก็ตาม

“ทุกข์” ตามพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ความยากลำบาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ 

ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จากคู่มือดูแลตนเอง เรื่อง ทำอย่างไรเมื่อใจเป็นทุกข์  ระบุสาเหตุของการเกิดทุกข์เอาไว้ ว่ามีที่มาดังนี้

- ทุกข์ เพราะครอบครัว ผิดใจ น้อยใจ ทะเลาะกับคนในบ้าน คู่ครองนอกใจ

-ทุกข์ เพราะไม่มีจะกิน หนี้สินมากมาย ล้มละลาย ตกงาน

- ทุกข์ เพราะตนเองเป็นคนชอบคิดมาก ระแวงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกรังแก เอาจริงเอาจังในชีวิตมากเกินไป ไม่ยืดหยุ่น

- ทุกข์ เพราะไม่สมหวังในการเรียน การทำงาน

-ทุกข์ เพราะสูญเสียสิ่งมีค่า มีความสำคัญ หรือถูกคนรักทอดทิ้ง

- ทุกข์ เพราะสุขภาพไม่ดี มีโรคภัยไข้เจ็บ

- และสุดท้ายที่ถือว่าอาจจะทันสมัยคือ ทุกข์ จากปัญหาการเมืองในปัจจุบัน (ที่อาจเกิดได้กับประชาชนบางกลุ่มทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่นนักการเมือง หรือ ประชาชนทั่วไปที่สนใจการเมืองเป็นพิเศษ เป็นต้น)

ปี 2566 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า แต่ละคนต่างเผชิญความทุกข์จากสาเหตุแตกต่างกันไป  ดังที่กล่าวมานี้ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ที่มีทั้งดีลลับ ดีลไม่ลับ  ที่ส่งผลให้การเมืองสลับขั้วสลับข้าง ลับ ลวง พราง  เดินมาถึงวันนี้ ที่ถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ ถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้

เชื่อว่า ในปี 2567 จะยังมีอีกหลายฉาก และตัวละคร ที่อาจจะสร้างความทุกข์ หรือความสุขให้ประชาชนที่มีต่อการเมืองไทย แต่กระนั้นหากเราเข้าใจโลก และมองให้เป็น ก็จะเห็นว่าทุกอย่างนั้น ไม่พ้นไปจากไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

เมื่อเข้าใจแล้ว ทำใจได้ ก็มีความสุข ลาทุกข์ในปี 2566 ไปเสียเถิด