ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว หนทางในการจัดการความทุกข์  แนวทางตามข้อคิดจาก พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จากสารธรรมาตา ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม 2555) เรื่อง “อยู่กับความทุกข์ให้เป็น” ซึ่งเนื้อความดำเนินมาถึง การอยู่กับความทุกข์นั้นมีวิธีอย่างไรบ้าง  ดังนี้

“...ทั้งการมองในแง่บวก การปล่อยวางยอมรับมัน หรือการปรุงแต่งใจในทางที่ดี อย่างเช่น บุรุษไปรษณีย์คนหนึ่งนำพัสดุไปส่ง แต่ประตูบ้านปิดเขาจึงเรียกให้เจ้าของบ้านออกมารับ แต่เจ้าของบ้านไม่อยากออกมาเพราะว่าไม่อยากเจออากาศร้อน บุรุษไปรษณีย์ก็รอเจ้าของบ้านมารับ แต่แทนที่จะรอเฉย ๆ ก็ร้องเพลงไปด้วย จนกระทั่งในที่สุดเจ้าของบ้านต้องออกมารับพัสดุ เสร็จแล้วเธอก็ถามบุรุษไปรษณีย์ว่าอากาศร้อนๆ อย่างนี้ คุณมีอารมณ์ร้องเพลงได้อย่างไร

เขาตอบว่า “โลกร้อน แต่ใจเราเย็น มันก็เย็นครับ ร้องเพลงเป็นความสุขของผมอย่างหนึ่ง ส่งไปร้องไป” นี่เป็นวิธีหนึ่งในการอยู่กับความร้อนได้โดยใจไม่ทุกข์ แม้เขาร้อนจนเหงื่อไหลชุ่ม แต่ใจเขาไม่ทุกข์ เพราะเขารู้วิธีผ่อนคลายด้วยการร้องเพลงให้ใจเย็น ความร้อนจึงไม่เป็นปัญหา

อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้อยู่กับความทุกข์ได้ คือ สติ  เวลาเกิดทุกขเวทนาขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการปรุงแต่งใจหรือปลอบใจตัวเองก็ได้ แต่ใช้สติคือรู้ทันจนปล่อยวางมันได้ 

 ความปวดกายที่เกิดขึ้น ถ้าเราเผลอก็จะปวดใจตามมา เวลาเจออากาศร้อน ไม่ใช่ร้อนกายอย่างเดียวแต่ร้อนใจไปด้วย เพราะว่า จิตไม่ปล่อยวางความปวด แถมปรุงแต่งไปในทางลบอีก คนเราเวลาเจอทุกขเวทนาใจก็มักปรุงแต่ง บางทีแค่เห็นหรือสัมผัสนิดหน่อยก็เอาไปปรุงแต่งแล้ว กลายเป็นความทุกข์ทรมาน ทุกขเวทนาเป็นเรื่องของกาย ส่วนความทุกข์ทรมานเป็นเรื่องของใจ เวลาความทุกข์เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราปฏิเสธผลักไสก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ แต่ถ้าเรามีสติดูใจ คือดูความคิดที่ปรุงแต่ง เห็นใจที่ขุ่นเคืองตีโพยตีพาย หรือเห็นทุกขเวทนาจนปล่อยวางได้ เมื่อนั้นความทุกข์ก็จะคลายไป มีความสงบมาแทนที่

เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกขเวทนาให้ได้ ที่วัดป่าสุคะโต ในช่วงเดือนธันวาคม ท้องฟ้าเปิด อากาศร้อนมาก เรามีการเดินธรรมยาตรา คนที่มางานนี้ต้องเดินกลางแดดวันละสี่ห้าชั่วโมงเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ดูแลลำธาร รักษาป่า ขณะเดียวกันก็ฝึกตนให้อยู่กับทุกขเวทนาให้ได้ คืออยู่กับความร้อนแต่ใจไม่บ่น

จึงมีคำขวัญว่า “กายร้อนแต่ใจไม่ร้อน” หรือ “ร้อนแต่กาย ใจสงบเย็น” ที่ทำอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการหาความทุกข์ใส่ตัว แต่เป็นการเดินเข้าหาความทุกข์เพื่อฝึกใจให้อยู่กับความทุกข์ได้ คนที่มีปัญญาเมื่อรู้ว่าหนีสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่พ้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ความทุกข์เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้จักอยู่กับมันให้ได้ จนเห็นมันเป็นมิตร ถ้าเราเป็นมิตรกับทุกขเวทนาได้ เราก็ไม่ต้องร้อนใจ นี่เป็นเรื่องที่เราสามารถฝึกได้ในชีวิตประจำวัน...” (อ่านต่อฉบับหน้า)