ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว ที่กล่าวถึงวิธีในการอยู่กับความทุกข์ ที่ตกผลึกจากข้อคิดของ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จากสารธรรมาตา ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม 2555) เรื่อง “อยู่กับความทุกข์ให้เป็น”  มีความดังนี้

“...นักปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์ให้ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความอดทน ดีกว่านั้นก็คืออยู่กับมันโดยอาศัยสติ คือรู้ทันใจที่ปรุงแต่งเวลามีความทุกข์กาย จนใจเป็นปกติได้แม้กายจะทุกข์ก็ตาม คนเราสามารถรักษาใจให้สงบแม้กายจะปวดได้ อาตมาเคยนำนักปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งเดินจงกรมทุกเช้า ไม่ได้เดินธรรมดา แต่เดินเท้าเปล่าตามทางที่มีกรวด เดินวันแรกหลายคนรู้สึกปวดเท้า แถมยังเจอยุงเวลาเดินผ่านสวน เวลายุงเกาะตามแขนตามตัว มันยังไม่ทันกัดเลย หลายคนก็ทุกข์ล่วงหน้าไปแล้ว นั่นเป็นเพราะใจปรุงแต่ง ยิ่งพอโดนมันกัด ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ อาตมาก็แนะให้เขาดูความกลัวที่เกิดขึ้นเวลายุงเกาะ หรือดูใจที่ผลักไส ใจที่บ่นโวยวายเวลาเวลาโดนยุงกัด ที่จริงร่างกายเราทนได้แต่ใจต่างหากที่ทนไม่ได้ เพราะเราหนีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา พอเจอเข้าก็ผลักไสอย่างเดียว ไม่รู้จักอยู่กับมันด้วยอาการสงบ หลังจากเดินได้สามสี่วัน หลายคนก็ทำใจได้ดีขึ้น รู้ทันเวลาใจมีปฏิกิริยาทางลบต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น

แต่อุปสรรคไม่ได้มีแค่นั้น พอใกล้ถึงวันสุดท้ายมีฝนตกพรำ ๆ แต่เช้า มดแตกรังออกมาเพ่นพ่านตลอดทาง พอเดินจงกรมผ่าน มดก็ไต่มาตามร่างกาย มีเสียงปัดมด บางคนคนก็กระทืบเท้าเพื่อสลัดมดออกไป ไม่มีอาการสำรวมเลย อาตมาจึงย้ำว่าที่จริงร่างกายเราทนได้ แต่ใจต่างหากที่ไม่ยอมทน ทั้ง ๆ ที่ทนได้เหมือนกัน จึงแนะให้เขาดูปฏิกิริยาของใจเวลาโดนมดกัด วันรุ่งขึ้นหลายคนก็ลองทำอย่างที่อาตมาแนะนำ ใจก็สงบมากขึ้น

ผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มนี้เล่าให้ฟังว่า เธอเดินมาหยุดตรงรังมดพอดี เห็นความกลัวเกิดขึ้น เพราะมีสติเห็นความกลัว ความกลัวก็คลายไป ทีนี้พอมดกัด เธอก็เห็นความเจ็บเกิดขึ้น ทั้งเจ็บทั้งร้อน เหมือนโดนธูปจี้เธอก็ดูเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วยังเห็นต่อไปด้วยว่ากล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจเต้นแรงเร็วขึ้น เม้มปากกัดฟัน กะพริบตา แล้วเธอกลับมาดูใจ เห็นใจกระสับกระส่าย พอเห็นเท่านั้น ใจก็สงบลง

ถ้าเป็นคนที่ยังไม่ผ่านการฝึกมา พอมดกัด ใจจะพุ่งไปที่มดด้วยความโกรธเคือง แต่นักปฏิบัติคนนี้ไม่ส่งจิตออกไปนอกตัว แต่กลับมาดูกายและใจของตน ทำให้ใจสงบ รู้สึกผ่อนคลาย ทั้ง ๆ ที่โดนมดกัด แม้รู้สึกเจ็บ แต่เมื่อมีสติใจก็สงบ ตอนแรกเธอก็แปลกใจว่าทำไมใจสงบได้ ทั้งๆ ที่ความเจ็บปวดยังมีอยู่ แล้วเธอก็รู้ว่ากายกับใจนั้นเป็นคนละส่วนกัน ความเจ็บเป็นเรื่องของกาย แต่ใจไม่จำเป็นต้องเจ็บด้วย เมื่อพบว่าใจสามารถสงบได้แม้กายจะปวด เธอก็ดีใจมาก บอกขอบคุณมด แทนที่จะโกรธมด เธอเรียกมดว่าเป็นอาจารย์ของเธอ

ผู้หญิงคนนี้อยู่กับความเจ็บปวดได้ ไม่ใช่เพราะความอดทน แต่เพราะใช้สติเป็นเครื่องรักษาใจ ปกติเวลาเราเจอสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องเดินหนีมด หรือไม่ก็ทำร้ายมด แต่เนื่องจากเธอต้องเดินจงกรมอยู่ในแถวจะเดินหนีมดก็ไม่ได้ ตบมดก็บาป ก็เลยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเจ็บปวดให้ได้ นั่นก็คือใช้สติช่วยให้ปวดแต่กาย ใจไม่ปวด...” (อ่านต่อฉบับหน้า)