ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]     

“งานของสุนทรภู่ ไม่ใช่แค่ซีไรต์โว้ย มันเล็กไป”เสียงดังทุ้มห้าวกังวานทั่วทั้งโต๊ะ พวกเราที่นั่งกันอยู่เกือบสิบคนเงี่ยหูฟังต่อ สุจิตต์ วงษ์เทศกวาดสายตามองพวกเรา แล้วพูดขึ้นเสียงดัง “ระดับสุนทรภู่มันต้องโนเบิ้ล ไพรซ์” “โห โนเบิ้ล ไพรซ์เลยเหรอ”

มีเสียงอุทานจากพวกเราคนหนึ่ง สิ้นเสียง ก็มีเสียงฮาครืนดังขึ้นอย่างพร้อมเพรียงในทันที พวกเรานั่งกันที่โต๊ะใต้คอนโดเรือนอินทร์ ย่านอรุณอัมรินทร์ อันเป็นที่พำนักของกวีฝีปากคมกล้าและผู้รอบรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เจ้าของนวนิยายเรื่อง “ขุนเดช”อันลือลั่น จนสนั่นจอแก้วมาแล้ว สาธยายต่อว่า...

“สุนทรภู่แต่ง พระอภัยมณี เป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวถึง 94 เล่มสมุดไทย ถือว่าเป็นยอดของนิทานคำกลอน มีคุณค่าครบทุกด้าน ในเรื่องพระอภัยมณี มีเรือกลไฟที่ต่อขึ้นเองด้วย สุนทรภู่คิดได้ยังไง เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน สมัยรัชกาลที่ 2 ยังไม่มีเรือกลไฟ สุนทรภู่ไม่ใช่โคตรเก่ง แต่อัจฉริยะเลย ฝีมือระดับสุนทรภู่ มันนต้องโนเบิลไพร้ซ์โว้ย”

เสียงฮาดังขึ้นอีกคำรบอย่างถูกใจวงเมรัย ในสมัยนั้นเป็นที่รู้กันวงในว่าใต้คอนโดเรือนอินทร์เป็นที่ชุมนุมของมิตรน้ำหมึก คนที่ไปชุมนุมสุมหัวกัน มีทั้งอาวุโสน้อยกว่าและอาวุโสเท่ากัน รวมทั้งผู้ที่ให้เคารพนับถือเรียกสุจิตต์ วงษ์เทศว่า “อาจารย์”

คนวงนอกที่ไม่รู้ความจริง คงจะคิดว่าพวกขี้เมาไปสุมหัวกัน หากในความเป็นจริงแล้ว การไปสุมหัวกัน ล้วนสนทนาแต่เรื่องมีสาระ ทำให้พวกเราได้ความรู้และมุมมองจาก “ขุนเดช”แห่งกรุงรัตนโกสนิทร์ วันนั้นผมหนังสือไปให้สุจิตต์ วงษ์เทศเซ็นด้วยได้แก่ ขุนเดช เจ้าขุนทองไปปล้น เสภาไพร่ เสภาเผด็จการ เป็นอาทิ พ่อเป็นคนซื้อให้ ยกเว้นเรื่อง ขุนเดช พ่อชอบ เจ้าขุนทองไปปล้น  ผมวางหนังสือไปตรงหน้าพลางเอ่ยบอก “พี่สุจิตต์”มองหน้าผมพลางพูดเสียงห้วน

“ไม่เซ็น” ผมชะงักนิดหนึ่ง แล้วเสียงของ “พี่สุจิตต์”ก็ดังขึ้น

 “ยังไม่เซ็น ขอกินเบียร์ก่อน” หลังจากยกแก้วเบียร์ขึ้นดื่ม จึงเปิดหนังสือเซ็นชื่อให้ แล้วพูดขึ้นว่า“คนที่พูดว่าสุนทรภู่เมาแล้วถึงแต่งกลอน นั่นคนไม่รู้จริง คนเมาจะสร้างผลงานได้มากมายขนาดนี้เหรอวะ นอกจากพระอภัยมณีแล้ว ยังมีผลงานอีกตั้งมากมาย แค่พระอภัยมณีเรื่องเดียวก็ยิ่งใหญ่แล้ว อย่างนี้มันต้องโนเบิ้ลไพรซ์โว้ย”

เมื่อลงท้ายด้วยประโยคยอดฮิต  เสียงฮาถูกใจและเอาใจเจ้าบ้านจึงดังขึ้นอีก แล้วสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เอ่ยต่อด้วยจังหวะแช่มช้าและชัดเจน

“สุนทรภู่เป็นคนคิดกลอนแปด เป็นผู้ริเริ่มฉันทลักษณ์กลอนแปดเป็นคนแรก คนนิยมแต่งกันจนถึงทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นกลอนแปด สุนทรภู่มีความคิดสร้างสรรค์มาก เป็นยอดยจินตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับยกย่องให้เป็นนบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรมจากยูเนสโก”

“พี่สุจิตต์”หยุดพักพลางยกแก้วไฮเนเก้นขึ้นดื่ม ส่วนพวกเราแล้วแต่ใครชอบวิสกี้หรือเบียร์ไอเนเก้น กับแกล้มบนโต๊ะเพียบ มีคนคอยบริการอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเป็นสารถีประจำตัว

 “ในสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่มีความรุ่งเรืองที่สุด” เสียงทุ้มห้าวดังขึ้นอีก “ รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดกวี อุปถัมภ์กวีมากมายหลายคน สุนทรภู่เป็นที่โปรดปรานมากที่สุด เมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใด จะให้สุนทรภู่ช่วยแก้

ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 3 ตอนนั้นยังไม่ได้ครองงราชย์ ดำรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาเล่นธาร ทรงรับสั่งให้สุนทรภู่ตรวจแก้ไข สุนทรภู่ไม่ได้แก้ไข กราบทูลว่าดีแล้ว เมื่ออยู่ต่อหน้าพระที่นั่งในการประชุมกวี สุนทรภู่แก้บทพระราชนิพนธ์ตรงที่ว่า

“น้ำใสไหลเย็นเห็นแลเห็นตัว  แหวกว่ายกอบัวอยู่ไหวไหว”

สุนทรภู่ทักท้วงขึ้น แล้วแก้เป็น

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา  แหวกว่ายปทุมาอยู่ไหวไหว”

 ปทุมาก็ดอกบัว ไพเราะลงตัวเลย บางคนว่าปทุมาคือนม จะว่ายังงั้นก็ได้  ก็ผู้หญิงลงเล่นน้ำ น้ำก็ใสมาก มองเห็นชัดอยู่แล้ว จะสื่อความหมายอะไร ปทุมาก็ไพเราะกว่ากอบัว”

สุจิตต์ วงษ์เทศเว้นจังหวะเล็กน้อย แล้วเล่าต่อว่า...

“รัชกาลที่ 3 ไม่พอใจมาก แก้ต่อหน้าที่ประชุมกวี เสียหน้านี่นา เขม่นสุนทรภู่ตั้งแต่นั้นมา  เมื่อรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์  สุนทรภู่ก็ถูกปลดออกจากราชการ ร้อน ๆ หนาว ๆ เลย อยู่ไม่ได้ ต้องออกบวช โดยอ้างว่าเป็นการถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 2 ชีวิตของสุนทรภู่ในช่วงนี้ตกอับ ต้องร่อนเร่พเนจร เหมือนที่รำพันไว้ใน นิราศภูเขาทองว่า

“สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ   ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย

แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด        ขอให้ได้เป็นข้าฝ่ายธุลี”

แล้วการที่สุนทรภู่ต้องร่อนเร่พเนจร ไม่ใช่เพราะไม่ลงรอยกับรัชกาลที่ 3 เท่านั้น ในราชสำนักมันก็มีเรื่องการเมือง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเหมือนกัน”

ผมได้จังหวะพูดแทรกขึ้นว่าขนาด “พี่สุจิตต์”เมา ยังจำได้แม่น “พี่สุจิตต์”พูดสวนขึ้นเสียงดังทันที “ยิ่งเมายิ่งแม่นโว้ย”

ครั้งที่สุจิตต์ วงษ์เทศเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม เขาพักอาศัยที่วัดเทพธิดาราม  เป็นวัดที่สุนทรภู่บวช วัดนี้จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ให้กับเขา เพราะมีหนังสือมากมายให้อ่าน แม้กระทั่งหนังสืองานศพ เขาเป็นผู้รอบรู้ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาก ขนาดที่ว่า ขณะเรียนอยู่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนอยู่ปี 2 เขาไปสอนนักศึกษาปี 1แทนอาจารย์

เมื่อเรียนจบได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ถือว่าเป็นลูกหม้อของสยามรัฐ สุจิตต์ วงษ์เทศเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “คนบาป” อันเป็นปฐมบทในเรื่องชุด “ขุนเดช” ได้ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันเรื่องสั้นไทย ใครมีเรื่องสั้นลงที่นี่ เหมือนได้ใบปริญญาบัตร สำหรับสุจิตต์ วงษ์เทศ เขาเปรียบว่า...

“ตอนนั้นเรื่องสั้นใครได้ลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ก็เหมือนเรียนจบมหาวิทยาลัย”

ที่สำคัญ ตัวละครที่ชื่อ “ขุนเดช” มีตัวจริง เป็นเรื่องราวชีวิตของนายเทียนที่บอกเล่าปากต่อปากชาวบ้านรุ่นต่อรุ่น นายเทียนออกไปตระเวนตรวจตราตามโบราณสถานทั่วศรีสัชนาลัย ส่วนผู้พิทักษ์อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ชื่อ จิรเดช ไวยโกสิทธิ์ที่สุจิตต์ วงษ์เทศรู้จัก แต่งกายคล้ายนายเทียนในยุคก่อน เขาจึงนำมาเรียงร้อยและแต่งเติมเป็นเรื่องราวให้มีความเข้มข้น

สุจิตต์ วงษ์เทศเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมรายสัปดาห์ ในภายหลังอยู่ในเครือบริษัทมติชน ต่อมา ปรับเป็นนิตยสารรายเดือน เขานั่งตำแหน่งที่ปรึกษา นอกจากมีเงินเดือนหลายหมื่น ยังมีคนขับรถตู้ประจำตัว คนเดียวกับที่คอยบริการเมรัยให้พวกเราใต้คอนโดเรือนอินทร์

ครั้งที่พวกเราไปชุมนุมกันที่ใต้คอนโดเรือนอินทร์ พอได้เวลาราว 2-3 ทุ่ม รถตู้ก็พาพวกเรามุ่งหน้าไปที่ร้านนายทองอยู่ อยู่ยืน ที่ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นร้านขาประจำ พอได้ที่ “พี่สุจิตต์”ก็จะให้ทางร้านเปิดเพลงไทยเดิมชื่อ “แสนคำนึง”เป็นซีดีฝากไว้ที่ร้าน จากนั้น “พี่สุจิตต์”ก็จะร้องเอื้อนตามพร้อมกับยกมือขึ้นฟ่ายฟ้อน

ประมาณ 5 ทุ่ม รถตู้จะเคลื่อนออกจากที่ ปลายทางคือโรงแรมรัตนโกสินทร์ พนักงานห้องอาหารรู้ใจ รีบยกเบียร์ไฮเนเก้นมาเสริ์ฟ แล้ว “พี่สุจิตต์”สั่งแบล็ค เลเบิ้ล สุรานอกชั้นดีให้พวกเรา กับแกล้มอร่อยเต็มโต๊ะ เวลาผ่านไป คนในโต๊ะค่อย ๆ ทยอยกลับ เพราะดึกโข เหลือไม่กี่คน ถ้าเหลือ 1-2 คน “พี่สุจิตต์”จะรั้งให้นั่งต่อ พอถึง  9 โมงเช้า “พี่สุจิตต์”จะเข้าห้องน้ำ แล้วหายวับ ตอนหลังรู้ทัน รีบชิงกลับก่อน แต่ครั้งแรกที่ได้ชนแก้วกับ ผมก็ประทับใจ เพราะ“พี่สุจิตต์”แต่งกลอนให้เป็นที่ระลึก ทั้ง ๆ ที่เมามาก...

หลังจาก “พี่สุจิตต์”เกิดอุบัติเหตุพลัดตกบันไดหลังหัก เมื่อปี 2545  อันเกิดจากไฮเนเก้นนับขวดไม่ถ้วน ก็ได้หยุดดื่มโดยเด็ดขาด หลังจากนั้นไม่นานก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่ทราบมาว่ายังมีการชุมนุมใต้คอนโดเรือนอินทร์ ตรงหน้าของ“พี่สุจิตต์” มีแก้วน้ำเปล่าวางอยู่ “พี่สุจิตต์”จะนั่งเพ่งมองราวกับบริกรรมคาถา ราว ๆ 1-2 ทุ่มก็กลับไปนอนที่บ้าน ไม่ได้นอนที่คอนโดอีกแล้ว

นั่นคืออดีตเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เดี๋ยวนี้ไม่มีทางจะได้เจอ “พี่สุจิตต์”ที่ร้านนายทองอยู่ อยู่ยืน หรือที่โรงแรมรัตนโกสินทร์อีกแล้ว ทุกอย่างเป็นประวัติศาสตร์และกลายเป็นตำนานแล้ว

ด้วยความเคารพและรำลึกถึง “พี่สุจิตต์”เสมอมา จึงขออนุญาต แม้จะไม่อนุมัติ เปลี่ยนสโลแกน“พี่สุจิตต์”ใหม่ว่า “ไม่เมา ก็แม่น” เพราะเป็นผู้ที่รอบรู้และบุคคลที่ทรงค่าในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ชื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

“จงรักความถูกต้อง แต่ก็ให้อภัยความผิดพลาด” (วอลแตร์)