ทองแถม นาถจำนง ว่าไปแล้วสยามขายข้าวให้ต่างประเทศมาช้านานแล้ว แต่เป็นการค้าแบบปิด คือพ่อค้าต่างประเทศจะต้องซื้อข้าวจากทางราชการเท่านั้น ปีใดมีข้าวน้อย สยามก็ไม่ขาย การค้าข้าวแบบเปิด เพิ่งจะเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่สี่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเคยพูดเรื่องการค้าข้าวในสมัยรัชกาลที่สี่ไว้ในรายการ “เพื่อนนอน” วันที่ 28 เมษายน 2506 ท่านเริ่มต้นอ่านประกาศรัชกาลที่สี่ก่อน ดังนี้“ในประกาศต่อไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางเศรษฐกิจ ผมขออ่านดังต่อไปนี้ ‘ประกาศมาที่สาม มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่ราษฎรในกรุง นอกกรุง ให้ทราบทั่วกันว่า แต่ก่อนในหลวงห้าม ปิดข้าวไว้ไม่ให้เอาออกไปขายนอกประเทศ ยอมให้เอาไปแต่พอเป็นเสบียง คนทั้งปวงที่มิใช่ชาวนาแลพ่อค้าเรือต่างประเทศก็มีความสบาย ด้วยข้าวถูก เกวียนละตำลึงบ้างห้าบาทบ้าง ตำลึงกึ่งบ้าง แต่ชาวนาไม่ชอบเพราะขายข้าวลดน้อยไม่พอกิน ต้องทิ้งนาให้เป็นป่ารก แลเวนนาเสียหลายหมื่นไร่ ไปหากินอย่างอื่น ด้วยอยากจะขายข้าวออกไปนอกประเทศต้องลักลอบเอาไป ครั้นเจ้าพนักงานจับได้ก็ต้องปรับ จึงต้องเป็นทุกข์ระวังตัว คนที่ซื้อข้าวเก็บไว้มากกินหมดไปช้า ข้าวก็ผุก็เหม็น เสียไปใช้ไม่ได้ จึงพากันซื้อไว้แต่น้อย ครั้นมีฝนแล้งเข้าสักเก้าวันสิบวัน ก็ตื่นกันซื้อเข้าว่าจะเก็บไว้กินเมื่อข้าวแพง ชาวนาก็ได้ที กดราคาข้าวให้ขึ้นไปถึงเกวียนหนึ่งสิบตำลึง สิบสองตำลึงเร็วทีเดียว บัดนี้ผู้ใหญ่ในกรุงพร้อมใจกันยอมเปิดให้ลูกค่าต่างประเทศซื้อข้าวไปนอกประเทศได้ ราษฎรเป็นอันมากก็ตื่นกันค้าขายมาก ชาวนาก็ทำมากไม่มีว่างทุกแห่งทุกตำบล แต่คนที่มิใช่ชาวนามิใช่พ่อค้าเห็นจะไม่ชอบใจบ้าง ด้วยราคาข้าวไม่ตกลงจนตำลึงหนึ่ง ห้าบาทกึ่งดังแต่ก่อน ต้องเสียเงินซื้อข้าวกินมากไปกว่าแต่ก่อน บัดนี้จึงทรงพระกรุณาตักเตือนสติพวกนั้นมาว่า จงอย่าเสียใจแลติเตียนว่า เพราะเปิดข้าวออกไป ราคาข้าวแพงอยู่เสมอไม่ลดลง ต้องเสียเงินซื้อข้าวกินมากไปนั้น จงคิดว่าเมื่อไม่เปิดข้าว คนทำนาน้อยไป ฝนแล้งก็ต้องเสียเงินซื้อข้าวแพงมาก ชดเชยกับที่เสียน้อยเหมือนกัน ฝ่ายชาวนาดีประโยชน์เพราะนาน้อย ครั้นทิ้งนารกร้างเสีย ต่อเกิดข้าวแพงจึงคิดทำก็ต้องถากถางมาก กว่าจะเป็นนาขึ้นได้ก็ยากเหนื่อยแรง จะคืนเป็นนาได้ก็น้อยไป เพราะฉะนั้นคนริซื้อข้าวกินก็จงมีใจเอ็นดูคิดถึงพวกชาวนาแลพ่อค้าด้วยเมตตากรุณาบ้าง แลส่วนตัวเมื่อเห็นว่าต้องเสียเงินซื้อข้าวกินนั้นแรงกว่าแต่ก่อนไป ก็จงอุตส่าห์คิดอ่านหาที่ไร่นาทำนาเองบ้าง ฤาคิดค้าขายทำมาหากินต่าง ๆ บ้างเถิด บ้านเมืองจะรุ่งเรืองได้ด้วยการไร่นาค้าขาย ที่ทุ่นนาว่างร้างอยู่ไม่มีไร่นาถมไป ข้าวที่คนนอกประเทศซื้อไปนั้น เสียภาษีแก่พระคลังสำหรับแผ่นดินเกวียนละตำลึง แลเงินภาษีข้าวนั้นบัดนี้ทรงพระราชดำริว่า เพราะเปิดข้าวออกไปนอกประเทศ จึงเกิดแก่ท้องพระคลังหลวง ก็เพราะคนทั้งปวงซื้อข้าวกินแรงราคาไปกว่าแต่ก่อน ต้องเสียเงินมากไป เพราะเหตุที่เปิดข้าวให้ขายไปนอกประเทศนั้น จะวิตกว่าเงินของตัวตกเข้ามาเป็นภาษีข้าว จึงโปรดเกล้าให้ จ่ายเงินภาษีข้าวจัดซื้ออิฐขนาดพันละห้าตำลึง แล้วให้กรมเมืองก่อแลซ่อมแซมถนนหนทางในพระนคร แลยังจะให้สร้างตะพานข้ามคลองในพระนครและรอบพระนครให้แน่นหนาแข็งแรง ให้คนเดินไปมาสะดวกสบายด้วยกัน เป็นการดังนี้ คนทั้งปวงจงยินดีอนุโมทนาเอาเถิดว่าเหมือนกับเรี่ยไรกันซ่อมแซมถนนหนทางแลตะพานข้ามคลองให้เดินสบายด้วยกัน ทั้งพระ คฤหัสถ์ชาววัดชาวบ้านทั้งปวง ประกาศมาวันพฤหัส เดือนห้า ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก เป็นปีที่เจ็ด ในรัชกาลปัจจุบันนี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร ฟัก เป็นผัวเหมือนทาสของท่านผู้หญิงอิ่มขึ้นคาน เป็นหลานพระยาสิงหเทพ เพง เป็นผู้รับสั่ง’ นี่ก็เป็นประกาศเกี่ยวกับเศรษฐกิจ น่าสนใจมากทีเดียวครับ จากประกาศนี้เราก็รู้กันว่า แต่ก่อนนั้นทางราชการห้ามส่งสินค้าข้าวออกนอกประเทศ ทั้งนี้ก็เพราะกลัวคนในประเทศจะอดข้าว คิดถึงความสุกของประชาชนก่อน แต่ว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากการห้ามส่งข้าวออกนอกประเทศก็คือ ชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคาสูง ต่างพากันเลิกทำนา แล้วก็ปล่อยให้เป็นนาร้างไปหลายหมื่นไร่ ชาวนาเลิกทำนาไปหากินอย่างอื่น และพ่อค้าก็ไม่สามารถจะค้าขายได้ ในที่สุดรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย อนุญาตให้ส่งข้าวออกนอกประเทศได้ โดยเก็บภาษีข้าวที่ส่งออกนอกประเทศตามสมควร ทั้งนี้ก็เป็นผลทำให้ชาวนาทำนามากขึ้นกว่าแต่ก่อน แล้วก็ที่นาที่เคยรกร้างว่างเปล่าก็กลับกลายมาเป็นนาดีด้วย ทำนาขายข้าวกันเป็นการใหญ่ ฐานะของชาวนาก็ดีขึ้น แต่ว่าบางคนที่จะต้องแย่เพราะเหตุว่าราคาข้าวเมื่อส่งออกนอกประเทศได้ก็จะต้องแพงกว่าแต่ก่อน แล้วก็ไม่ถูกลง แพงสม่ำเสมอกันเรื่อยไป เพราะข้าวส่งออกได้เสมอ ทางราชการจึงได้ออกแถลงการณ์ให้ทราบ อธิบายหลักเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจสมัยนั้นให้ทราบ ซึ่งเป็นความจริงทุกอย่าง เรื่องนี้ก็น่าคิดว่าในรัชกาลที่สี่นี่เอง ที่สินค้าได้เริ่มออกไปขายนอกประเทศ ข้าวไทยได้ส่งออกไปเป็นที่รู้จักกันและตั้งแต่นั้นมาเราก็ยังได้อาศัยข้าวของเรานั้นเอง เป็นเครื่องเลี้ยงประเทศ ทำให้ประเทศไทยได้เจริญพัฒนาการก้าวหน้ามาได้จนทุกวันนี้ ถ้าพูดถึงพัฒนาการในสมัยนั้นก็เริ่มกันอยู่แล้ว เพราะในประกาศบอกไว้ชัดว่าเงินภาษีข้าวที่เก็บได้นั้น ทางราชการได้เอามาซื้ออิฐขนาดใหญ่พันละห้าตำลึง แล้วก็ให้ก่อและซ่อมแซมถนนหนทางในพระนคร สร้างสะพานข้ามคลองขึ้นในพระนครและรอบพระนครให้แน่นหนาแข็งรง นี่ก็เป็นการพัฒนาพระนครให้ดีขึ้นเห็นได้ชัด เป็นการทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าแต่ก่อน ได้รับความสะดวกสบายทั่วกัน” .......................... ในสมัยรัชกาลที่สี่ มีการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจประเทศอย่างใหญ่หลวง นั่นคือเปิดขายข้าวออกนอกประเทศได้เสรีขึ้น