สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหาที่กลายเป็นวัฏจักรที่คุ้นชิน ซึ่งจะเวียนมาทุกปี เช่นเดียวกับปัญหาภัยพิบัติอย่างน้ำท่วม และน้ำแล้ง หากแต่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆต่อชีวิต

แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาหลากหลายรูปแบบของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง หากแต่การจูงใจให้ร่วมมือในการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน  ย่อมจะทำให้มีความเป็นไปได้ ที่ปัญหาจะทุเลาเบาบางลงหรือไกลกว่านั้นคือหายไปในที่สุด

ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เมื่อวันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยขยายขอบข่ายการสนับสนุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม ให้รวมถึงการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น และกลุ่มเกษตรกรในการยกระดับสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยการจัดการป่าในพื้นที่เป้าหมาย ครอบคลุมทั้งป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ

สำหรับกิจกรรมที่สามารถขอรับสิทธิตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น การก่อสร้างแนวกันไฟป่าเปียก การก่อสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ดับไฟป่า การฝึกอบรมด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า เป็นต้น โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสนับสนุนการจัดการป่าและการลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ตามเกณฑ์ที่กำหนดและได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่ เป็นเวลา 3 ปี ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 200 ของเงินลงทุนที่จ่ายจริงในการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นและกลุ่มเกษตรกร

ขณะเดียวกันยังได้เห็นชอบให้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุน 3 มาตรการ ที่เดิมจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2566 ออกไปอีก 1 ปี ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention and Expansion Program) และมาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) โดยสามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2567

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมลงทุนรวม 2 โครงการ มูลค่ารวม 18,675 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (BioFuel) จากน้ำมันพืชใช้แล้ว ของบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ในกลุ่มบางจาก มูลค่าลงทุน 10,000 ล้านบาท โดยนำเศษวัสดุและของเสียจากผลผลิตทางการเกษตร และน้ำมันพืชใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) น้ำมันดีเซลยั่งยืน (Green Diesel) และก๊าซหุงต้มยั่งยืน (Green LPG) เป็นต้น และโครงการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบอัจฉริยะ ของบริษัท โอเมก้า โลจิสติกส์ แคมปัส จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มพฤกษา โฮลดิ้ง และบริษัทชั้นนำด้านอสังหาริมทรัพย์และโลจิสติกส์จากสิงคโปร์และไต้หวัน มูลค่าลงทุน 8,675 ล้านบาท โดยจะใช้ระบบบริหารคลังสินค้าและเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงในการกระจายสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

ทั้งนี้ เราเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว หากแต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เมื่อหมดระยะเวลาของมาตรการแล้ว จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะทำอย่างไรให้การส่งเสริมนั้นเป็นไปอย่างจริงจังและยั่งยืน