ปี 2565  ไทยส่งออกปลานิลในปริมาณ 9,322 ตัน มูลค่า 351 ล้านบาท สะท้อนความต้องการสินค้าที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีในด้านการเป็นอาชีพหลักและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ “ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย” สินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดหนองคาย ต่อจากกล้วยตากสังคมและสับปะรดศรีเชียงใหม่

โดย“ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย” คือปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา มีลักษณะส่วนหัวเล็ก ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน มีลายพาดตามขวาง เมื่อปรุงสุกเนื้อมีสีขาว แน่นเป็นลิ่ม และนุ่ม จำหน่ายในรูปแบบปลานิลสดและปลานิลแดดเดียว ผลิตและแปรรูปตามภูมิปัญญาของชุมชน ครอบคลุมเขตพื้นที่ 6 อำเภอ ของจังหวัดหนองคายที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ได้แก่ อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี 

นอกจากนี้ ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ มีคุ้งน้ำกว้าง พื้นท้องน้ำเป็นทราย มีโขดหินทำให้การไหลผ่านของน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงจังหวัดหนองคายเป็นการไหลแบบเอื่อย ๆ ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลานิล ทำให้ปลานิลมีสุขภาพดีจากการว่ายน้ำตลอดเวลา ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงซึ่งมีแร่ธาตุในดิน และเป็นน้ำที่มีความสะอาด ส่งผลให้ “ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย” ที่เลี้ยงในกระชังจึงไม่มีกลิ่นเหม็นคาวและไม่มีกลิ่นโคลน เนื้อแน่น นุ่ม เนื่องจากมีไขมันแทรก เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในจังหวัดหนองคายรวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ถือเป็นสินค้าด้านการเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดหนองคายและเกษตรกรในชุมชนกว่า 540 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ที่มาของปลานิลจิตรลดานั้น ผู้เขียนขอย้อนรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เดิมปลานิลนั้นมีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์ปลา Nile tilapia จำนวน 50 ตัว ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิ  ฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในบ่อที่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต จนแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก

ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตดี เลี้ยงง่าย และเนื้อมีรสชาติดี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนทั่วไป จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” 

ทั้งนี้หลังจากที่ได้พระราชทานปลานิลให้แก่กรมประมงเพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์แล้ว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลานิลที่ทรงเพาะไว้ไปแจกจ่ายแก่ราษฎรอีกเป็นประจำทุกเดือน จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2512 รวมเป็นพันธุ์ปลาทั้งสิ้น 92,269 ตัว แม้กระนั้นก็ดี จำนวนพันธุ์ปลานิลที่ได้ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของพสกนิกรที่ต้องการนำพันธุ์ปลานี้ไปเพาะเลี้ยง โดยเฉพาะที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน ได้มีราษฎรมาติดต่อขอรับพันธุ์ปลานิลเดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว ความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อขนาดใหญ่ในสวนจิตรลดาเพื่มขึ้นอีก 1 บ่อ เพื่อช่วยเร่งผลิตพันธุ์ปลานิลให้เพียงพอแก่ความต้องการของพสกนิกรของพระองค์ต่อไป

ต่อมาในปี พ.ศ.2527 ได้ทำการปรับปรุงบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแต่จำนวนลดลงเหลือเพียง 7 บ่อ และได้ใช้ในการผลิตพันธุ์ปลานิล ซึ่งนับว่าเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้พันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในนามว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา”