ควันหลงจากศึกอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอภิมหาโครงการ อย่าง “แลนด์บริดจ์”  โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง)

โดยโครงการดังกล่าวนั้น ถูกพูดถึงมาหลายรัฐบาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่ง มาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พยายามที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor : SEC) ที่เป็นกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อเชื่อมต่อกับการขนส่งและคมนาคมของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)  เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ต้องมายุบสภาไปเสียก่อน

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ทำให้ไทยอยู่ในหมุดหมายการผลิตของต่างประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศต้องการเข้ามาตั้งโรงงานในไทย แต่คนไทยมีเพียง 70 ล้านคน หลายสินค้าไม่คุ้มที่จะมาตั้ง เพราะต้องตั้งโรงงานขนาดใหญ่ จำนวนคนที่ไม่มากพอ ต้องส่งสินค้าออกไปขายทั่วโลก ประเด็นที่เป็นปัญหาในการขนส่งสินค้าตอนนี้ คือ ช่องแคบมะละกาทีแออัดและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้การขนส่งสินค้าต้องเข้าคิว และใช้เวลาจำนวนมาก อย่างไรก็ดีในช่วง 10-15 ปี เชื่อว่าจะมีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าสินค้าใช้เส้นทางเดินเรือเพิ่ม โดยช่องแคบดังกล่าวบริหารไม่เกิดประโยชน์สุงสด

“การทำแลนบริดจ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ปริมาณน้ำมันขนส่งทั่วโลก 60% ผ่านช่องแคบมะละกา หากมีปัญหเรื่องขนถ่ายสินค้า รัฐบาลจึงตระหนักทำเรื่องแลนด์บริดจ์ และจุดยืนของเราคือเป็นกลาง ความขัดแย้งระหว่างจีน และ สหรัฐอเมริกาที่มีความรุนแรง แต่เขาต้องค้าขาย เมื่อประเทศไทยเป็นกลางเสนอตัวทำแลนบริดจ์ เชื่อมโลกทั้งโลก และจีน สหรัฐอเมริกาสามารถใช้เป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าได้ดี”

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าการทำแลนด์บริดจ์เป็นเรื่องจำเป็น แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพิกเฉยเสียงประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลดำเนินการสำรวจความคิดเห็นรับฟังความเห็น พรรคค้าน ภาคประชาคม ประชาชนในพื้นที่ นักธุรกิจทุกคน ให้แน่ใจว่าโครงการดังกล่าวาเป็นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญของโลก นอกจากนั้นโครงการแลนด์บริดจ์ทำให้หลายประเทศ ซาอุดิอาระเบีย ที่มีมั่นคงด้านพลังงาน อยากเข้ามาลงทุน สร้างโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงาน และไทยมีความพร้อมยืนในโลกที่ขัดแย้ง พึ่งตนเองได้ ให้ชีวิตประชาชนยกระดับ

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่ามหากาพย์แลนด์บริดจ์จะประสบความสำเร็จ ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในรัฐบาลเศรษฐาหรือไม่