สถาพร ศรีสัจจัง

วันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2567 หรือ ค.ศ.2024 เป็นวันครบรอบชาตกาล 141 ปี “กวีจิตรกร” และ “ศาสดาพยากรณ์” (The Prophet) ลือนามชาวเลบานอน นาม “ญิบรอน เคาะลีล ญิบรอน” (ออกเสียงแบบอาหรับ) ที่คำภาษาอังกฤษออกเสียงประมาณ “คาลิล จิบราน” (Kalil Gibran) หรือที่ท่านศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล ราชบัณฑิต และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(วายชนม์) แปลออกเสียงเป็นภาษาไทยไว้ว่า “คาลิล ยิบราน”

คาฮ์ลิล ญิบราน(ขอแทนค่าชื่อของเขาจากคำอังกฤษ “Kahlil Gibran” เป็น “คำไทย” ด้วยการสะกดเช่นนี้) เกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2426 (ค.ศ.1883) เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2474 (ค.ศ.1931) มีชีวิตอยู่ในโลกเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 48 ปี 3เดือน 4 วัน

วงการวรรณกรรมอเมริกันและโลกตะวันตกให้ฉายาเขาว่า “วิลเลียม เบรค และ ดังเต้ แห่งศตวรรษที่ 20”  

แต่บรรดากวีร่วมสมัยยุคปัจจุบัน (โดยเฉพาะในโลกตะวันออก) มักกล่าวกันว่า เขาคือ “คาฮ์ลิล ยิบราน” แห่งเลบานอน ที่ไม่ใช่ “เงาร่าง” ของกวีตะวันตกคนไหน ทั้งยังมีความยิ่งใหญ่ทรงพลังเหมือน “ไม้ใหญ่” ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของใคร แต่มีร่มเงาของตัวเองที่มีขึ้นห่มปกเพื่อแผ่จินตปัญญาและสัจธรรมแห่งชีวิตให้แก่ชาวโลกทั้งมวล!

หลายเสียงยังบอกอีกว่า เขาคือ “ศาสดาพยากรณ์แห่งศตวรรษที่ 20” ตัวจริง ที่มีจินตปัญญาซึ่งเปี่ยมเต็มไปด้วย “ปรีชาญาณ” (Intuition) แห่ง “อาตมัน(Soul)” จนสามารถใช้พลังทางภาษาสำแดงเนื้อหาแห่งสัจธรรมอันจริงแท้ ดีแท้ และงามแท้(absalute truth)ของ “สภาวธรรมแห่งความเป็นมนุษย์และจักรวาล” ให้ปรากฏ เพื่อแจกจ่าย “ปํญญา” ที่เรียบง่าย (Simplisity) แต่ลุ่มลึกถึงแก่นแท้ของชีวิต แก่ผู้มีโอกาสรับ “บทกวีจากจิตวิญญาณ” (Spiritual poems) ของเขา!

ไม่ใช่เพียงเพราะหนังสือกวีนิพนธ์ร้อยแก้วเชิงปรัชญาเล่มสำคัญที่เขาเขียนเล่มหนึ่งมีชื่อว่า “The prophet” ซึ่งปัจจุบันได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆของโลกแล้วไม่น้อยกว่า 40 ภาษา และได้รับการประเมินว่าเป็นหนังสือชื่อเรื่องหนึ่ง “ของโลก” ในจำนวนไม่กี่ชื่อเรื่อง ที่ถูกจัดอันดับว่า “ขายดีตลอดกาล” ดอก !

โดยพื้นเพ ชาติพันธุ์ กระบวนทัศน์ และ น้ำเสียงที่ตัวเขากล่าวถึงตัวเอง คาฮ์ลิล ยิบราน ยืนยันว่าเขามี “จิตวิญญาณ” เป็น “คนตะวันออก” !ของแท้!

เขาเกิดในเมืองเล็กๆที่มีภูมิทัศน์แสนงดงามเมืองหนึ่งกลางหุบเขาแถบตะวันออกกลาง ชื่อเมือง “บชาห์รี” (Bshari) แต่เดิม คือตอนที่ญิบรานเกิดนั้น เมืองนี้อยู่ในจังหวัดหนึ่งของอาณาจักรออตโตมัน(ตุรเคีย) แต่ภายหลังเมื่อมีการจัดระบบเรื่องเขตแดนตามลักษณะรัฐชาติสมัยใหม่ เมืองนี้ติดอยู่ในเขตพื้นที่ของประเทศเลบานอนมาจนปัจจุบัน

มีบทขานเล่าที่เขียนถึงเรื่องราวชีวิตวัยเด็กของเขาไว้ไม่น้อย สรุุปเป็นความได้สั้นๆทำนองว่า เขามี “แวว” ของความเป็น"ศิลปิน"มาแต่วัยเยาว์ กล่าวกันว่า เขาสำแดงฝีมือในการวาดภาพและเขียนความเรียงเป็นภาษาอาหรับได้ดีมาแต่เมื่อวัยเด็ก  และเมื่ออายุประมาณ๘ขวบก็แสดงตนว่ามีความซาบซึ้งและนิยมชมชอบงานศิลปะของลีโอนาโด ดาร์วินซี และ ไมเกิล แองเยโล แล้ว!

ฟังมาจากบทความที่เขียนถึงเขาหลายชิ้นว่า แม่ของญิบรานนั้นเป็นผู้ดีมีตระกูลในหมู่บ้านและมีความเชี่ยวชาญด้านดนตรี ส่วนบิดาสุขภาพไม่ดีนักและเสียชีวิตไปก่อน แม่ของญิบรานอพยพครอบครัวจากบ้านเกิดพาลูกๆไปแสวงหวังตั้งรกรากใหม่ที่สหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1912 คาฮ์ลิล ยิบรานได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนของ “ผู้อพยพเข้าเมือง” ที่เมืองบอสตัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมลรัฐแมสซาชูเซสต์

แต่ญิบรานก็กลับมาเรียนภาษาอาหรับที่ซีเรียเพิ่มเติมอีกตอนอายุได้ 14 ปี เมื่อกลับไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เขาจึงใช้ภาษาอาหรับเขียนหนังสือในช่วงแรกๆ ทั้งยังเป็นสมาชิกคนสำคัญของสมาคมนักเขียนภาษาอาหรับในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ภายหลังต่อมาจึงเริ่มสร้างงานด้วยภาษาอังกฤษจนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก

หนังสือเล่มสำคัญๆของเขา(ส่วนใหญ่ได้รับการแปลเป็นพากย์ไทยแล้ว) ที่ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Alfread A.Knopf เช่น The mad man, Twenty drawing, The Forerunner, The Prophet, Sand and Foam, Jesus the Son of Man, The Earth Gods, The Wanderer, The Garden of the Prophet, Prose Poems, Nymphs of the Valley, Spirit Rebellious, A Tear and a Smile,Belove Prophet : The Love Lesters of Kahlil Gibran and Marry Haskell.(Edited by L'irginia Hilu.), The Man from Lebanon : A study of Kahlil Gibran by Babara Young. เป็นต้น

ช่วงที่ยังมีชีวิต หนังสือของเขาส่วนใหญ่จัดจำหน่ายได้ไม่มากนัก แต่ภายหลังเกือบทุกเล่มกลายเป็นหนังสือ “เบสท์ เซลเลอร์” แทบทั้งสิ้น

ในบรรดาหนังสือทุกเล่มของคาฮ์ลิล ญิบราน ถือกันว่าหนังสือชื่อ “The Prophet” ซึ่งตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1923 (ปีค.ศ.2023 หรือ พ.ศ.2566 หนังสือเล่มนี้จึงครบรอบ 100 ปีการปรากฏโฉมในบรรณพิภพ) เป็นผลงานเล่มที่สมบูรณ์เลอเลิศสุดยอดของเขา ทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการประพันธ์

เนื้อหาของหนังสือเป็นเรื่องเชิง “ปรัชญาชีวิต” ที่ผู้เขียนคือ คาฮ์ลิล ญิบราน นำเสนอความคิดผ่านตัวละครที่เป็น “The Prophet” (ศาสดาพยากรณ์) นาม “อัลมุสตาฟา ผู้ถูกเลือก” เพื่อชี้แนะผู้อ่านให้เข้าใจชีวิตด้านลึก ในประเด็นต่างๆทางสังคม ด้วยท่วงทำนองกวีนิพนธ์ร้อยแก้วที่ไพเราะล้ำลึกและแหลมคมทางแง่คิดยิ่งนัก

โดยนำเสนอประเด็นตั้งแต่เรื่อง “ความรัก” การแต่งงาน,บุตร,การงาน,กฏหมาย,การศึกษา ฯลฯ จนกระทั่งถึงบทสุดท้ายคือ “ความตาย”

ว่ากันว่า สำนวนภาษาของญิบรานในบทนิพนธ์ขนาดยาวเรื่องนี้ มีความรื่นไพเราะ ลึกซึ้ง คมคาย งดงาม กระชับ และเรียบง่ายยิ่งนัก

หนังสือเล่มนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล ศิลปินแห่งชาติ สายวรรณศิลป์ผู้วายชนม์ อดีตอาจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถอดความเป็นภาษาไทยด้วยลีลา “ภาษากวี” เฉพาะตัวของท่านไว้อย่างยอดเยี่ยมยิ่งนัก ในชื่อ “ปรัชญาชีวิต” ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศไทยมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2504 โน่นแล้ว (แต่ฟังว่าไม่แพร่หลายมากนัก)

ภายหลัง(ช่วงประมาณปีพ.ศ. 2530) สำนักพิมพ์ผีเสื้อของ “มกุฏ อรฤดี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นำมาตีพิมพ์ซ้ำ ด้วยศิลปะการทำหนังสือที่มีคุณภาพสูง มีรูปเล่มแข็งแรง สวยงาม จนถึงปัจุบันได้รับการพิมพ์ซ้ำแล้วมากกว่า 20 ครั้ง!

และหนังสือ “The Prophet” หรือ “ปรัชญาชีวิต” ของ คาฮ์ลิล ญิบราน เล่มนี้แหละ ที่ฟังมาว่า ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆทั่วโลกแล้วมากกว่า 40 ภาษา ทั้งยังจำหน่ายไปแล้วเป็นจำนวนหลายสิบล้านเล่ม จนได้รับการจัดอันดับเป็นหนังสือ “ขายดีตลอดกาล” ของโลกไปแล้วในบัดนี้!!!!!