รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ Reader’s Digest เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความสุขในการทำงานของแต่ละสาขาอาชีพ” ของ BambooHR Survey ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม 2020 ถึงมิถุนายน 2023 จากบุคลากรบริษัทต่าง ๆ มากกว่า 57,000 คน และมากกว่า 1,600 องค์กร ครอบคลุมอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ (Health care) การเงิน (Finance)
การก่อสร้าง (Construction) การศึกษา (Education) การท่องเที่ยวและบริการ (Travel and hospitality) อาหารและเครื่องดื่ม (Food and beverage) และเทคโนโลยี (Technology)

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าบุคลากรสายการศึกษา “ครู” มีความสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากบุคลากรสายสุขภาพ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ครูไม่มีความสุขและมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การทำงานหนักเกินไป ความเครียดสะสมในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ การได้รับค่าจ้างที่น้อยเกินไป และความกดดันเรื่องหลักสูตร สำหรับบุคลากรที่มีความสุขในการทำงานอันดับต้น ๆ เรียงจากมากไปน้อยคือ บุคลากรสายก่อสร้าง สายเทคโนโลยี สายการเงิน สายอาหารและเครื่องดื่ม และสายท่องเที่ยวและบริการ

ขณะที่ Gallup รายงานว่าในปี 2023 คนทำงานมีความเครียดในที่ทำงานระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคนทำงาน 60% กล่าวว่ารู้สึกไม่ผูกพันทางอารมณ์ในที่ทำงาน (Emotional engagement) และ 19% รายงานว่ามีความทุกข์ในที่ทำงาน แม้ว่ากรอบความคิดเรื่องโรคระบาดจะเปลี่ยนไปสู่ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่เพิ่มขึ้น มีความยืดหยุ่นในการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น แต่คนทำงาน 50% ในสหรัฐฯ ยังคงมีความเครียดในที่ทำงานทุกวัน และหลายคนยังรู้สึกกังวล เศร้า และโกรธเมื่อมาทำงาน

Laura Putnam ที่ปรึกษาด้านความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานและผู้เขียน Workplace Wellness That Works ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับความสุขและสุขภาพจิตที่ดีของบุคลากรในแต่ละสายวิชาชีพเกี่ยวข้องกับความสนิทสนมกันระหว่างเพื่อนร่วมงานและเวลาที่ทำงานนอกบ้าน สำหรับปัจจัยอื่นที่มีผลต่อระดับความสุขในการทำงาน เช่น ค่าจ้างหรือเงินเดือน ความมั่นคงทางอาชีพ การได้ออกไปทำงานนอกสถานที่ การปฏิสัมพันธ์หรือการพูดคุยระหว่างเพื่อนร่วมงานแบบเผชิญหน้า รวมถึงความสมดุลระหว่างชีวิตและ
การทำงาน

Talia Fox ซีอีโอของ KUSI Global และผู้เขียนหนังสือ The Power of Conscious Connection ระบุว่า กุญแจสำคัญใน
การสร้างองค์กรที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขนั้นอยู่ที่ ‘การตระหนักถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของบุคลากรและ
ความสามารถในการตอบสนองความต้องการเหล่านั้น’

เมื่อหันกลับมาดูผลสำรวจเรื่อง “ความสุขของครูและนักเรียนในปี 2567” ที่ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับ “สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา” โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทางออนไลน์จากครูและนักเรียนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,184 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 – 8 มกราคม 2567 พบว่า

“5 อันดับความสุข” ที่ครูอยากได้มากที่สุดในปี 2567 ได้แก่ คืนครูสู่ห้องเรียน ลดภาระงานอื่นที่นอกเหนือจากงานสอน (อันดับ 1 65.77%) ปรับเงินเดือนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ (อันดับ 2 62.18%) ลูกศิษย์ตั้งใจเรียน ประสบความสำเร็จ (อันดับ 3 56.20%) หน้าที่การงานมั่นคง มีความก้าวหน้า (อันดับ 4 55.46%) และมีชีวิตที่ดี สุขภาพดี ครอบครัวมีความสุข (อันดับ 5 44.39%)

จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่าความสุขของครูที่อยากได้มีความสอดคล้องกับผลสำรวจของ BambooHR Survey และความคิดเห็นของ Laura Putnam ที่ระบุว่าความสุขของครู “หายไป” เพราะครูทำงานหนักเกินไป ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือนน้อยไป ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ และขาดความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

สำหรับผลสำรวจ “5 อันดับความสุข” ที่นักเรียนอยากได้มากที่สุดในปี 2567 คือ ครอบครัวมีเงินส่งค่าเล่าเรียน ไม่ลำบาก (อันดับ 1 57.08%) ครูและผู้ปกครองมีความสุขกับการเรียนของบุตรหลาน (อันดับ 2 52.50%) ครอบครัวสุขภาพแข็งแรง
(อันดับ 3 50.21%) พ่อแม่มีเวลา ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พาไปเที่ยว (อันดับ 4 48.54%) และครูเข้าใจเด็ก ให้อิสระ ได้คิด ตัดสินใจเอง (อันดับ 5 41.04%) 

เด็กทุกคนต้องการความสุขเป็นพื้นฐาน ดังนั้นผู้ปกครองและครูต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปลูกฝังสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดเชิงบวกและความสุขให้กับเด็ก วิธีสร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ เช่น การใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ การดูแลเอาใจใส่และ
ให้ความสนใจ การรับประทานอาหารกับครอบครัว การทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เดินเล่น อ่านหนังสือ และการสอนทักษะใหม่ เด็ก ๆ จะรู้สึกขอบคุณผู้ปกครองและครูที่ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งผู้ปกครองและครูทุกคนต้องปรับแนวคิดที่จะทำให้เด็กมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขมาก ๆ

เพราะความสุขเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การให้ความสำคัญกับความสุขและสุขภาพจิตถือเป็นความจำเป็นสำหรับชีวิต โดยเฉพาะครูและนักเรียน เมื่อความสุขมีเพียงพอก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ การงาน และความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งความสุขยังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ความสงบสุข ความเสมอภาค และความยั่งยืนด้วย

ดังนั้น ปีใหม่ 2024 นี้ มาเฉลิมฉลองกระจายความสุขกันอย่างฉลาด ๆ ดีกว่า แต่ต้องไม่ลืม ‘Permacrisis’ !!! หรือวิกฤตที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงทนกันด้วยครับ...