ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับผู้ล่วงลับ ได้โพสต์ข้อความเอาในเพจเฟซบุ๊ก (9 กันยายน 2563) มีความข้อความระบุว่า

“ที่ประตูทางเข้าของมหาวิทยาลัยในแแอฟริกาใต้ มีข้อความหนึ่งติดไว้เตือนใจว่า... 

"การทำลายประเทศซักประเทศหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดอะตอมมิค หรือใช้จรวดนำวิถีระยะไกลอันใด ขอเพียงแค่ลดคุณภาพการศึกษาให้ต่ำลง และปล่อยให้นักศึกษาโกงการสอบ...

คนไข้ก็จะตายด้วยมือหมอ-ที่มีคุณภาพตามนั้น,สิ่งก่อสร้างทั้งหลายก็จะพังทลายด้วยมือวิศวกร-ที่มีคุณภาพอย่างนั้น,เศรษฐกิจจะสูญด้วยมือนักธุรกิจและนักลงทุน-ที่มีคุณภาพอย่างนั้น,มนุษยธรรมจะหายสิ้นด้วยมือของนักวิชาการศาสนา-ที่มีคุณภาพอย่างนั้น,ความยุติธรรมจะไม่มีเหลือด้วยมือของผู้พิพากษา-ที่มีคุณภาพอย่างนั้นๆ ...การล่มสลายของการศึกษาคือความพินาศของชาติ”

จากบทความข้างต้นสะท้อนความสำคัญของการศึกษา โดยในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมามีข่าวช็อกวงการการศึกษาไทย เนื่องจาก ผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทย PISA 2022 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งลดลงทุกด้านและต่ำสุดในรอบ 20 ปี

 นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  กล่าวในเวทีเสวนา Exclusive Talk PISA 2022 และอนาคตทิศทางการศึกษาไทย Beyond 2025 ตอนหนึ่งระบุว่า ไม่อยากให้มองแค่ผล PISA แต่ต้องมองทะลุไปสู่ภาพที่ใหญ่กว่านั้น คือ พัฒนาการศึกษาอย่างไรให้เด็กมีแรงบันดาลใจรู้สึกอยากเรียน และครูสนับสนุนให้เดินไปบนเส้นทางนั้น เด็กจึงเรียนแล้วไม่เครียด สร้างระบบการศึกษาที่มาจากรอบ ๆ ตัวเด็ก ให้ความสำคัญระบบนิเวศน์การเรียนรู้ เชื่อมโยงไปสู่ครอบครัว ชุมชน ประเทศ ข้อเสนอเชิงนโยบายของ กสศ. คือ ต้องไม่มีรั้วระหว่างบ้านและโรงเรียน ที่แยกกันทำหน้าที่ บ้านก็โยนว่าหน้าที่การเรียนการสอนเป็นของโรงเรียน หรือโรงเรียนไม่ได้สนใจสถานะของเด็ก ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดการทำงานระหว่างบ้านและโรงเรียนมีมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อทักษะอนาคต ต้องบูรณาการทั้งเรื่องของสุขภาวะเด็ก การเรียนการสอน และการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เป็นภาพเดียวกัน จะมองแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เช่น สุขภาวะต้องดูว่าเด็กมีภาวะทุพโภชนาการหรือไม่ ซึมเศร้าไหม การเรียนการสอนที่ต้องออกแบบให้ยืดหยุ่น ถ้าทำได้ดี เมื่อมีการประเมินเข้ามาเด็กไทยก็มีขวัญพร้อมเข้าสู่การประเมิน แนวโน้มก็จะดีขึ้น ขณะที่ระบบการศึกษานั้นมีหลายระบบ มีทั้งที่เน้นเรื่องการเรียนอย่างมีความสุข ผลคะแนนดี และความเสมอภาค เราพบว่า มี 4 ระบบการศึกษา คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ลิทัวเนีย และไต้หวัน ที่ทำได้ทั้ง 3 ด้าน ส่วนระบบการศึกษาของไทยก็ต้องมาดูว่าจะเริ่มจากจุดไหน 

“การปฏิรูปที่สำคัญ คือ ต้องทำให้เกิดวงจรการเรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเราติดกับดักแค่ตอนสอบ ใช้การประเมินเชิง Summative Assessment หรือการสอบไล่ พอวัดผลแล้วก็ปิดเทอม ไม่ได้มีการพัฒนา จึงต้องทำให้เกิดการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้เชิง Formative Assessment มากขึ้น ให้ครูมีเครื่องมือนี้ในการประเมินผลตอนที่เด็กกำลังเรียน แต่ไม่ใช่การสอบมิดเทอม จะทำให้เด็กรู้ว่าเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายหรือเนื้อหาส่วนไหน ตัวเองเรียนรู้มาถึงจุดไหน และเป้าหมายการเรียนรู้ต่อไปคืออะไร ทำให้รู้ว่าเด็กเรียนได้ดีขึ้นหรือแย่ลงแล้วต้องรีบพัฒนา อย่าไปรอลุ้นประเมิน PISA ซึ่งเราเป็นอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว ซึ่งจริง ๆ PISA เป็นเพียงเหมือนการตรวจสุขภาพเท่านั้น ที่ทำให้เรารู้ว่าต้องพัฒนาตรงไหนอย่างไร”

เราเห็นด้วยและฝากความหวังให้รัฐบาล รวมทั้งภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัว ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปการศึกษา ให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง เพื่อพัฒนาคน พัฒนาชาติ